SHARE
SCB EIC ARTICLE
17 กรกฏาคม 2017

เศรษฐกิจญี่ปุ่น: ส่งออกฟื้น ดันเศรษฐกิจญี่ปุ่นโตเกินคาด

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 3/2017  คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

เศรษฐกิจญี่ปุ่นไตรมาส 1 ปี 2017 ขยายตัวต่อเนื่องที่ 1.0%QOQ SAAR6 หรือ 1.3%YOY นำโดยการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่องที่ 6.0%YOY จากค่าเงินเยนที่อยู่ในระดับอ่อนค่ากว่าปีก่อนและอุปสงค์จากจีนรวมทั้งประเทศอื่นๆ ในเอเชียที่สูงขึ้นเป็นหลัก สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวต่อเนื่อง ทำให้การลงทุนภาคเอกชนเติบโต 3.6%YOY นอกจากนี้ ยังเริ่มเห็นสัญญาณการลงทุนเพื่อเตรียมรับการจัดงานโตเกียวโอลิมปิกส์ 2020 ทำให้การลงทุนก่อสร้างที่อยู่อาศัยขยายตัว 6.1%YOY จากการก่อสร้างหอพักนักกีฬา อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนยังค่อยๆ ฟื้นตัวที่ 0.9%YOY โดยยังกระจุกตัวอยู่ในสินค้าคงทนบางประเภทและบริการ

อีไอซีมองการส่งออกและนโยบายภาครัฐดันเศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตดีขึ้นที่ 1.3% จากเดิมคาดการณ์ที่ 1.2% โดยการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดในไตรมาสแรกยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องตลอดปี 2017 ตามอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรที่ไตรมาสแรกขยายตัวได้ 8%YOY และ 12%YOY ตามลำดับ นอกจากนี้ เม็ดเงินลงทุนจากภาครัฐตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่จะเห็นผลชัดเจนขึ้นในไตรมาส 2 เป็นต้นไป เพราะมีความคืบหน้าในการทำสัญญาก่อสร้างหลายโครงการในไตรมาสแรก ทั้งโครงสร้างพื้นฐานและการปรับปรุงสิ่งก่อสร้างที่ใช้ในงานโตเกียวโอลิมปิกส์ ทั้งนี้ การลงทุนส่วนใหญ่เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน และยังมีผลกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนส่วนอื่นๆ ด้วย เช่น การลงทุนด้านที่พักแรมและร้านค้าปลีกเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเพิ่มขึ้น เป็นต้น

ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีแนวโน้มคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ตลอดปี 2017 เนื่องจากเงินเฟ้อยังไม่ฟื้นตัว โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับต่ำที่ 0.2%YOY ในไตรมาสแรกจากการบริโภคในประเทศที่ยังคงอ่อนแอ ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากค่าจ้างแรงงานที่ไม่ขยายตัว เพราะหลายบริษัทยังกังวลเกี่ยวกับผลประกอบการในระยะข้างหน้า อีกทั้งเล็งเห็นปัญหาของสังคมผู้สูงอายุที่จะทำให้ขาดแคลนแรงงานยิ่งขึ้นในอนาคต จึงได้จัดสรรเงินลงทุนไปใช้ลงทุนในเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์เพื่อการผลิตมากกว่าลงทุนในแรงงานคน และเลือกให้ผลตอบแทนแรงงานเป็นโบนัสมากกว่าการปรับเพิ่มฐานเงินเดือน เพราะจะสามารถปรับเพิ่มหรือลดในปีต่อไปได้ตามสภาวะเศรษฐกิจ สถานการณ์ดังกล่าวกดดันค่าจ้างแรงงานและทำให้การบริโภคฟื้นตัวช้า โดยธนาคารกลางญี่ปุ่นมองว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังไม่ไปถึงเป้าหมาย 2% ในปี 2017-2018 นี้ จึงมีแนวโน้มคงดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้นไว้ที่ระดับ -0.1% และดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ที่ประมาณ 0% เพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และเพื่อสนับสนุนการอ่อนค่าของเงินเยนซึ่งจะเป็นผลดีต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียน ตลาดหลักทรัพย์โดยรวม และผู้ส่งออกต่อไป

 

นัยต่อเศรษฐกิจไทย

  • ค่าเงินเยนเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นเดือน พ.ค. แข็งค่าขึ้นในระดับใกล้เคียงกับค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ 5% จากสิ้นปี 2016 ทั้งนี้ อีไอซีมองว่าการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำ ขณะที่ดอกเบี้ยสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น จะช่วยส่งเสริมให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงไปอยู่ที่ 116 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ ปลายปี 2017

  • การลงทุนโดยตรงสุทธิ (net FDI) จากญี่ปุ่นที่เข้ามาไทยเริ่มกลับมาขยายตัวในไตรมาสแรกที่ 8.4%YOY หลังจากหดตัวลงในปีก่อน ทั้งนี้ นโยบาย Eastern Economic Corridor (EEC) ของรัฐบาลไทยที่มีความชัดเจนขึ้น จะช่วยดึงดูดนักลงทุนญี่ปุ่นได้มากขึ้นในระยะต่อไป โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่บริษัทญี่ปุ่นมีฐานการผลิตในภาคตะวันออกอยู่แล้ว เช่น การผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน

  • การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่นที่ฟื้นตัวอย่างโดดเด่น ส่งผลดีต่อผู้ส่งออกชิ้นส่วนของไทยด้วย โดยมูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากไทยไปญี่ปุ่นใน 5 เดือนแรกขยายตัวถึง 39%YOY ขณะที่การส่งออกสินค้าอื่นๆ ค่อยๆ ฟื้นตัวตามอุปสงค์ญี่ปุ่นที่ยังอ่อนแอ ทำให้การส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นโดยรวมขยายตัวที่ 4%YOY

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ