SHARE
SCB EIC ARTICLE
17 กรกฏาคม 2017

เศรษฐกิจยูโรโซน: เติบโตโดดเด่น แต่ความเสี่ยงทางการเมืองยังคงมีอยู่

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 3/2017 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

เศรษฐกิจยูโรโซนไตรมาส 1 ปี 2017 เติบโตที่ 0.6%QOQSA2 หรือ 1.9%YOY จากการบริโภคภาคครัวเรือน และการลงทุนภาคเอกชนที่ฟื้นตัวตามการส่งออก ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการว่างงานที่ปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 8 ปี ที่ 9.3% ในเดือนพฤษภาคมและดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตที่เติบโตสูงสุดในรอบ 6 ปี ที่ 57.4 ในเดือนมิถุนายน อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจยูโรโซนยังถูกขับเคลื่อนโดยเยอรมนีและฝรั่งเศสเป็นหลัก ขณะที่ประเทศเศรษฐกิจอ่อนแอ โดยเฉพาะ อิตาลี สเปน โปรตุเกส และกรีซ ยังฟื้นตัวอย่างเปราะบาง โดยอัตราการว่างงานในอิตาลีและสเปน แม้จะทยอยลดลง แต่ยังสูงถึง 11% และ 18% ตามลำดับ3

การเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ปี 2017 อาจถูกกระทบจากความเสี่ยงทางการเมืองในอิตาลี แม้ว่าการเลือกตั้งผู้นำเยอรมนีในวันที่ 24 กันยายนจะไม่น่ากังวลมากนัก เนื่องจากผู้มีคะแนนนิยมนำทั้งสองฝ่ายเป็นผู้มีแนวคิดสนับสนุน EU อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งของอิตาลีเป็นสิ่งที่ต้องจับตามองว่าจะมีขึ้นในเดือนกันยายนนี้ตามที่อดีตนายกรัฐมนตรีของอิตาลี Matteo Renzi ได้กล่าวไว้หรือไม่ ทั้งนี้ ปัญหาเศรษฐกิจที่เรื้อรังของอิตาลี โดยเฉพาะภาคธนาคาร ส่งผลให้คะแนนนิยมของพรรคที่ต่อต้าน EU อย่าง Five Star Movement (M5S) เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งหากพรรค M5S สามารถครองเสียงข้างมากและจัดตั้งรัฐบาลได้ ย่อมมีการผลักดันให้เกิดการลงประชามติเพื่อถอนตัวออกจาก EU ในระยะต่อไป อย่างไรก็ดีโอกาสเกิดการเลือกตั้งของอิตาลีในเดือนกันยายนยังมีเพียง 45%4 แต่หากเกิดขึ้นจริงและพรรค M5S เป็นฝ่ายครองเสียงข้างมากอาจสั่นคลอนความเชื่อมั่นด้านการค้า การลงทุน ตลอดจนการจ้างงานและการบริโภคครัวเรือน และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจยูโรโซนทั้งปี 2017 เติบโตต่ำกว่าที่อีไอซีคาดการณ์ไว้ที่ 1.6%

อีไอซีมองว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะยังไม่เร่งดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดในปีนี้ แม้ ECB เริ่มส่งสัญญาณชะลอการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายแล้ว เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนยังไม่ส่งผ่านไปยังอัตราเงินเฟ้อได้อย่างชัดเจนนัก ประกอบกับความไม่แน่นอนทางการเมืองในภูมิภาคที่ยังคงมีอยู่ ทั้งนี้ ECB อาจเริ่มถอนมาตรการผ่อนคลายทางการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งเป็นที่คาดการณ์ว่าในการประชุมวันที่ 7 กันยายน นี้ ECB อาจประกาศปรับลดวงเงินในการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล (Quantitative Easing: QE) จาก 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน เหลือ 4 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน เริ่มเดือนมกราคม 2018 เป็นระยะเวลา 6-9 เดือน ขณะที่การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอาจเริ่มขึ้นในไตรมาส 3 ของปี 2018

 

นัยต่อเศรษฐกิจไทย

  • การส่งออกจากไทยไปยูโรโซนขยายตัว 5.4% ในช่วง 5 เดือนแรกของปี โดยเศรษฐกิจยูโรโซนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวทั้งในภาคครัวเรือน
    และภาคธุรกิจอาจช่วยให้ความต้องการสินค้าจากไทยซึ่งนำโดยคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และรถยนต์และส่วนประกอบ
    ฟื้นตัวต่อไปได้

  • โอกาสในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนทางตรง (FDI) จากยูโรโซนสู่ไทยมีมากขึ้น หลังจากที่รัฐบาลไทยประกาศใช้ ม.44 เพื่อผ่อนปรนให้บริษัทต่างชาติที่ทำธุรกิจการบินในกิจการซ่อมบำรุงและผลิตชิ้นส่วนอากาศยานที่
    มาลงทุนใน EEC สามารถถือหุ้นในกิจการได้มากกว่า 50% ซึ่งอาจสนับสนุนให้ บริษัท Airbus ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านการบินสัญชาติฝรั่งเศสมีความเชื่อมั่นในการลงทุนทางตรงสู่ไทยมากขึ้น

  • ความกังวลทางการเมืองที่ลดลงหลังผลการเลือกตั้งผู้นำฝรั่งเศสเป็นไปตามคาด และเศรษฐกิจยูโรโซนที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้เงินยูโรแข็งค่าขึ้นกว่า 8.0% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 2.5% เมื่อเทียบกับบาท5 อย่างไรก็ตาม อีไอซีคาดว่าเงินยูโรจะอ่อนค่าลงที่ราว 1.08 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อยูโรในปลายปี 2017 จากความเสี่ยงทางการเมืองในอิตาลีและแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ