SHARE
SCB EIC ARTICLE
17 กรกฏาคม 2017

เศรษฐกิจสหรัฐฯ: ชะลอชั่วคราวจากการบริโภคที่อ่อนลง แต่การลงทุนภาคเอกชนแข็งแกร่ง

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 3/2017 คลิกอ่านฉบับเต็ม

 

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไตรมาส 1 ปี 2017 ชะลอตัวจากการบริโภคภาคเอกชน แต่การลงทุนเอกชนยังแข็งแกร่ง โดยเศรษฐกิจขยายตัว 1.4%QOQ SAAR1 ต่ำสุดในรอบ 3 ไตรมาส หรือขยายตัว 2.1%YOY การบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะการซื้อรถยนต์และที่อยู่อาศัยชะลอตัว เช่นเดียวกับการใช้จ่ายภาครัฐที่หดตัว อย่างไรก็ตาม ตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งจากอัตราการว่างงานที่เข้าสู่ภาวะปกติและรายได้ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จะทำให้การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มกลับมาเติบโตได้ในช่วงที่เหลือของปี ด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวสูง 3.1%YOY โดยเฉพาะธุรกิจพลังงานที่ลงทุนสูงตามนโยบาย America First Energy Plan โดยคาดว่าการลงทุนภาคเอกชนจะเป็นแรงส่งในไตรมาสต่อไป ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเติบโตได้ที่ 2.2% ในปีนี้

ความคืบหน้าของนโยบายการคลังจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี แต่ยังคงมีความเสี่ยง การที่รัฐสภาอยู่ระหว่างพิจารณาร่างกฎหมายบริการสุขภาพฉบับใหม่ และยกเลิกกฎหมายประกันสุขภาพฉบับเดิม (Affordable Care Act หรือ Obamacare) รวมทั้งวางแผนลดรายจ่ายหลายด้านในร่างงบประมาณรายจ่ายปี 2018 อาทิ เงินอุดหนุนด้านบริการสุขภาพ และผู้มีรายได้น้อยและทุพพลภาพบางส่วน ทำให้รายจ่ายของรัฐบาลลดลงและนำมาลดภาษีที่เป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นและส่งผลดีต่อการลงทุนในสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายเหล่านี้ยังอยู่ในขั้นตอนของรัฐสภามีโอกาสที่จะไม่ผ่านความเห็นชอบหรือมีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ รวมถึงมีความล่าช้าในการผ่านร่างกฎหมายได้

อีไอซีมองว่าผลการศึกษาการขาดดุลการค้าตามคำสั่งพิเศษของประธานาธิบดีจะเป็นผลดีต่อสหรัฐฯ โดยคาดว่าผลการศึกษากรณีสหรัฐฯ ขาดดุลกับคู่ค้า 16 ประเทศ และแผนเชิงปฏิบัติการจีน-สหรัฐฯ จะช่วยเพิ่มอำนาจการต่อรองที่เป็นประโยชน์ต่อการส่งออกของสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรซึ่งเคยถูกระงับการนำเข้าจากหลายประเทศ เช่น เนื้อวัว และอาจช่วยลดปริมาณนำเข้าสินค้าบางประเภทได้ อาทิ เหล็ก อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้น จากโครงสร้างเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้คาดว่าสหรัฐฯ ยังคงจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศและอยู่ในสัดส่วนที่ยังสูง โดยเฉพาะในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค

ความไม่แน่นอนทางการเมืองอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นในประเทศ ข่าวการปลดนายเจมส์ โคมีย์ ผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลางและความล่าช้าของนโยบายการคลัง ผนวกกับการประกาศถอนตัวจากข้อตกลงปารีส 2015 ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ทำให้การยอมรับต่อประธานาธิบดีทรัมป์ลดลง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมืองและอาจทำให้นโยบายการคลังซึ่งเป็นความหวังของนักธุรกิจล่าช้าไป ส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อการบริโภคและลงทุน และเสี่ยงต่อเศรษฐกิจชะลอตัว

 

นัยต่อเศรษฐกิจไทย

  • การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพทำให้ความต้องการสินค้าและบริการจากไทยมากขึ้น แต่แผนลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ อาจกระทบต่อสินค้าส่งออกไทยบางหมวด อาทิ หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประมง ขณะที่ผู้ประกอบการในไทยหมวดเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเสี่ยงต่อการถูกแย่งส่วนแบ่งการตลาดหากสหรัฐฯ ผลักดันให้ไทยเปิดตลาดนำเข้า (อ่านเพิ่มเติมที่ In Focus ธุรกิจส่งออกไทยรับมืออย่างไรกับนโยบายการค้าสหรัฐฯ)

  • ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลง 4.9% จากต้นปีและผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 10 ปีลดลง 0.12% จากต้นปีมาอยู่ที่ 2.3% จากความไม่แน่นอนทางการเมืองในสหรัฐฯ ทำให้มีเงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดเอเชีย ส่งผลให้เงินบาทและเงินสกุลเอเชียแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ดี หากแผนปฏิรูปภาษีชัดเจนขึ้นและธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มลดขนาดงบดุลในปีนี้ จะทำให้เงินทุนไหลกลับสหรัฐฯ และเงินบาทอ่อนค่าลงอยู่ในช่วง 35.0-35.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2017
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ