SHARE
SCB EIC ARTICLE
06 กรกฏาคม 2017

อสังหาฯ อาเซียน จะรุกหรือจะรับในยุคดิจิทัล

ผู้เขียน: ธีระยุทธ ไทยธุระไพศาล

เผยแพร่ในโพสต์ทูเดย์  วันที่ 6 กรกฎาคม 2017

 

GettyImages-532174354 (1).jpg

 

 

 

ปัจจุบันเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการทำธุรกิจ โดยเป็นการเพิ่มมิติใหม่ให้กับทั้งผู้ประกอบการ และผู้บริโภคที่ต้องปรับตัวให้สอดรับกับสิ่งใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น ภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนี้เช่นกัน ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าหากการทำธุรกิจยังคงเน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์แบบเดิม ขาดซึ่งการสอดแทรกนวัตกรรมเข้าไปจะส่งผลต่อการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ไปอย่างน่าเสียดาย

เมื่อหันกลับมามองเม็ดเงินของการลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์จากนักลงทุนทั่วโลก จากข้อมูลของ UNCTAD พบว่ากลุ่มประเทศอาเซียนมีมูลค่าการลงทุนสูงถึงราว 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วน 30% รองลงมาเป็นจีน และฮ่องกงที่คิดเป็นสัดส่วน 20% และ 6% ตามลำดับ ซึ่งนับว่าเป็นมูลค่าการลงทุนที่น่าสนใจมากทีเดียว หากย้อนไปในอดีตการบุกตลาดอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มประเทศอาเซียนจะเป็นการอาศัยความร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงเป็นหลัก เพราะผู้บริโภคมักจะเลือกซื้ออสังหาริมทรัพย์จากแบรนด์ และชื่อเสียงของบริษัทที่รู้จักกันดีในแต่ละพื้นที่ แต่สำหรับยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีสามารถเชื่อมโยงข้อมูลที่ผู้บริโภคสามารถใช้ในการตัดสินใจซื้อสินค้าได้อย่างหลากหลาย และรวดเร็วขึ้นนี้ บริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์สามารถใช้ช่องทางดังกล่าวในการสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักได้ง่ายขึ้น และต้นทุนถูกลง ส่งผลให้ผู้เล่นหน้าใหม่กล้าที่จะเข้ามาแข่งขันกันมากขึ้น นอกจากเทคโนโลยีจะย่อโลกให้แคบลงในแง่ของข้อมูลข่าวสารที่ไร้พรมแดน การผนวกเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มก็เป็นอีกเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยมในประเทศที่นวัตกรรมก้าวหน้าและได้รับการตอบสนองจากผู้บริโภคอย่างสอดรับกัน เช่น การนำเสนอสินค้าเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยเวลาอยู่ที่บ้านเป็นพิเศษ (environment sensor) หรือการพัฒนาสินค้าเพื่อช่วยให้ลูกค้ามีความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตผ่านการใช้อุปกรณ์ที่คิดค้นด้วยนวัตกรรมที่มุ่งเน้นการตอบสนองต่อการใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านในชีวิตประจำวันให้ง่ายขึ้น (smart appliances)  หรือการออกแบบระบบการบริหารการใช้พลังงาน (energy management) เพื่อลดค่าใช้จ่ายภายในบ้าน เป็นต้น

ดังนั้น การผนวกเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ลูกค้าเฉพาะกลุ่มข้างต้นเข้ากับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อต่อยอดเป็นบ้านอัจฉริยะ (smart home) ในอนาคต ก็มีความเป็นไปได้ในการสร้างโอกาสทางธุรกิจรูปแบบใหม่ให้กับตลาดอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต หากพิจารณาในแง่โอกาสการเข้ามาลงทุนในตลาดอาเซียนนั้นพบว่ายังเห็นโอกาสอยู่มาก จากข้อมูลของ A.T. Kearney คาดว่าภายในปี 2030 มูลค่าตลาดของ smart home ในเอเชีย มีแนวโน้มที่จะขยายตัวขึ้นสูงถึง 115 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับเม็ดเงินลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลกดังที่เคยกล่าวไปข้างต้น จะเห็นได้ว่าช่องว่างของโอกาสใหม่ในอนาคต ที่นอกเหนือไปจากการพัฒนาสินค้าในรูปแบบเดิมยังมีความเป็นไปได้อยู่ค่อนข้างมาก เพื่อตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เริ่มหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีเพื่อสร้างความสะดวกสบาย และเข้ากับไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิตมากขึ้น ซึ่งจะผลักดันให้นวัตกรรมนี้ได้รับความนิยมมากขึ้นในระยะต่อไป อีกทั้งแนวโน้มของราคาอุปกรณ์ Internet of Things (IoT) ที่ถูกลง ก็จะช่วยให้บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ง่ายขึ้นด้วย โดยข้อมูลของ Gartner คาดว่า ภายในปี 2020 จำนวนอุปกรณ์ IoT ทั่วโลกที่เกี่ยวข้องกับบ้าน (Connected-home devices) จะยังมีแนวโน้มที่เติบโตขึ้นอีกอย่างต่อเนื่องสูงถึงราว 68% ต่อปี ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มของมูลค่าตลาด smart home ในเอเชียที่ขยายตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบัน smart home จะยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนักในแถบอาเซียน ซึ่งช้ากว่ากลุ่มประเทศทางฝั่งยุโรปอยู่ประมาณ 4-5 ปี แต่ก็พบว่ามีความพยายามที่จะนำเสนอโครงการนำร่องจากผู้ประกอบการที่เริ่มจะหันมาพัฒนาโครงการที่พักอาศัยโดยใช้นวัตกรรม smart home แล้ว เช่น โครงการ Visionaire ในสิงคโปร์ โครงการบ้านกลางเมือง CLASSE และโครงการ Rhythm สาธรในไทย เป็นต้น

อีไอซีมองว่าการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ อย่าง smart home ผ่านการจับมือร่วมกับผู้เล่นที่เชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นบริษัทโทรคมนาคม (Telcos) กลุ่มผู้ประกอบการเทคโนโลยีเกิดใหม่ (Tech start-ups) หรือผู้ประกอบการที่เชี่ยวชาญในการควบรวมระบบ (system integrators) จะเป็นการเสริมฐานกำลังของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไทยให้แข็งแกร่งขึ้น และมีความพร้อมกับการเข้าบุกตลาดอาเซียนในระยะต่อไป นอกจากนี้ การพัฒนาองค์กรให้ก้าวทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล (digital transformation) ควบคู่ไปกับการศึกษาแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องมุ่งเน้นเป็นพิเศษในระยะนี้ เนื่องจากยุคดิจิทัลกำลังจะเปลี่ยนลูกค้าให้กลายเป็นผู้ที่วิ่งเข้าหาสินค้าด้วยตนเองอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งประเด็นที่ไม่สามารถมองข้ามได้ คือ การเพิ่มความสัมพันธ์กับลูกค้าเดิมให้แน่นแฟ้นมากขึ้นแทนที่จะเน้นไปที่การวิ่งหาลูกค้าใหม่ จะช่วยหนุนให้องค์กรสามารถเติบโตขึ้นได้อย่างยั่งยืน ท้ายที่สุดนี้ จังหวะในการเข้าบุกเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้ประกอบการต้องวางแผนในการเข้าไปลงทุนให้เหมาะสมกับสภาวะตลาดและพิจารณาความเสี่ยงให้รอบคอบ ซึ่งเมื่อสามารถวิเคราะห์ถึงสินค้าที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างแม่นยำ มีพันธมิตรที่แข็งแกร่งและหลากหลาย ประกอบกับจังหวะที่ดีในการเข้าไปบุกตลาด การรุกตลาดอสังหาริมทรัพย์ในอาเซียนก็ไม่ใช่เรื่องยากที่เกินความสามารถอีกต่อไป

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ