SHARE
SCB EIC ARTICLE
01 มิถุนายน 2017

จากวิกฤติสู่โอกาส: แรงงานภาคธุรกิจท่องเที่ยวใน CLMV

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของกลุ่มประเทศ AEC มีการเติบโตอย่างรวดเร็วโดยมีจำนวนนักท่องเที่ยว 108 ล้านคนในปี 2558 เพิ่มสูงขึ้นถึง 45% เมื่อเทียบกับปี 2552 และมีการคาดการณ์โดย World Travel and Tourism Council ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นเป็น 187 ล้านคนในปี 2573 โดยในปี 2559 มีสัดส่วนมูลค่าเมื่อเทียบกับGDP สูงถึง 11.8% และคาดว่าจะมีมูลค่าเป็น 12.1% ของ GDP ในปี 2560 หากพิจารณาในกลุ่มประเทศ CLMV พบว่าในปี 2558 มีสัดส่วนนักท่องเที่ยวประมาณ 20% ของกลุ่มประเทศ AEC และมีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 15.1% มากกว่าอีกกลุ่ม 6 ประเทศที่เหลือที่มีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7.1% ในช่วงปี 2551-2558

ผู้เขียน: ภราดร หีมมุเด็น

เผยแพร่ในโพสต์ทูเดย์  วันที่ 1 มิถุนายน 2017

 

pic_clmv_tourism.jpg 

 

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของกลุ่มประเทศ AEC มีการเติบโตอย่างรวดเร็วโดยมีจำนวนนักท่องเที่ยว 108 ล้านคนในปี 2558 เพิ่มสูงขึ้นถึง 45% เมื่อเทียบกับปี 2552 และมีการคาดการณ์โดย World Travel and Tourism Council ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นเป็น 187 ล้านคนในปี 2573 โดยในปี 2559 มีสัดส่วนมูลค่าเมื่อเทียบกับGDP สูงถึง 11.8%  และคาดว่าจะมีมูลค่าเป็น 12.1% ของ GDP ในปี 2560 หากพิจารณาในกลุ่มประเทศ CLMV พบว่าในปี 2558 มีสัดส่วนนักท่องเที่ยวประมาณ 20% ของกลุ่มประเทศ AEC และมีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 15.1% มากกว่าอีกกลุ่ม 6 ประเทศที่เหลือที่มีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7.1% ในช่วงปี 2551-2558


การเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยว แสดงให้เห็นถึงโอกาสของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้งนักลงทุนในประเทศเข้าไปลงทุนในธุรกิจโรงแรมในกลุ่มประเทศ CLMV อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากธุรกิจโรงแรมเป็นธุรกิจที่พึ่งพาแรงงานเป็นหลัก (labor-intensive) โดยมีจำนวนแรงงาน 4.6 ล้านคนในปี 2558 และคาดว่าจะต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นอีกราว 7 แสนคนภายในปี 2563 จึงทำให้เกิดความกังวลว่าการขยายตัวของธุรกิจจะสอดรับกับจำนวนแรงงานหรือไม่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น โดยส่วนใหญ่แล้วก็พบว่ามีแนวโน้มที่จะเผชิญปัญหาดังที่กล่าวมาทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยในเชิงปริมาณ ตัวอย่างเช่น เมียนมามีจำนวนแรงงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 11.4% ในช่วงปี 2554-2558 ในขณะที่จำนวนห้องพักเพิ่มขึ้นสูงถึง 18.9% ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงช่องว่างของจำนวนแรงงานที่ยังโตไม่ทันกับจำนวนห้องพักที่เพิ่มขึ้น สำหรับด้านคุณภาพแรงงานนั้น เมื่อพิจารณาจากผลการประเมินความสามารถด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของกลุ่มประเทศ CLMV (The Travel & Tourism Competitiveness Report 2017) พบว่าจุดอ่อนที่แต่ละประเทศต้องเผชิญซึ่งมีผลต่อการจัดอันดับก็คือคุณภาพด้านการศึกษา ทั้งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะทักษะด้านภาษาสากล รวมถึงด้านการฝึกอบรมบุคลากรในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการโรงแรมโดยเฉพาะ


จากปัญหาด้านแรงงานที่กล่าวมาข้างต้น หากมองในแง่ของโอกาสในการทำธุรกิจในการที่จะรับมือกับปัญหาแรงงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ คือ การสร้างแรงงานที่มีคุณสมบัติซึ่งเป็นที่ต้องการในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างการร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมสมรรถนะบุคลากรด้านการท่องเที่ยว ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2559 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฎษฎีกา โดยร่างกฎหมายดังกล่าวมีสาระสำคัญเพื่อยกระดับมาตรฐานแรงงานในสาขาการบริการและการท่องเที่ยวเพื่อรองรับการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงานในกลุ่มประเทศอาเซียน

โดยปัจจุบันประเทศสมาชิกอาเซียนได้ลงนามในข้อตกลงร่วมว่าด้วยการยอมรับคุณสมบัติบุคลากรด้านการท่องเที่ยวอาเซียน หรือ ASEAN Mutual Recognition Arrangement on Tourism Professionals (ASEAN MRA on TP) ตั้งแต่ปลายปี 2555 เพื่อกำหนดให้บุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในอาเซียนมีทักษะความสามารถที่ใกล้เคียงกันมากที่สุด ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการหางานหรือเคลื่อนย้ายแรงงานในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน


ทั้งนี้ จากผลการสำรวจของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่าคุณวุฒิของแรงงานวิชาชีพท่องเที่ยวของประเทศไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก แต่ทักษะที่เป็นจุดอ่อนของไทยเมื่อเทียบกับอีก 2 ประเทศคือทักษะความหลากหลายของการสื่อสารด้านภาษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านภาษาอังกฤษ อย่างไรก็ตาม อาเซียนอาจไม่ใช่ภูมิภาคเป้าหมายของชาวฟิลิปปินส์เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา หรือยุโรป ขณะที่เวียดนามมองว่าอาเซียนจะเป็นเป้าหมายหลัก โดยเมื่อวิเคราะห์โครงสร้างของไทยที่มีแนวโน้มผู้สูงอายุเยอะขึ้น การตึงตัวของตลาดแรงงาน รวมถึงการแข่งขันอย่างดุเดือดของภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่มีโรงแรมใหม่ๆ เพิ่มขึ้น จึงทำให้เกิดการขาดแคลนบุคลากรท่องเที่ยวอย่างมาก


จากวิกฤติที่ไทย และกลุ่มประเทศ CLMV เผชิญปัญหาด้านแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ภาคเอกชนจะเข้ามามีส่วนรวมในการพัฒนาตลาดแรงงานเพื่อเพิ่มจำนวนบุคลากรที่มีศักยภาพเพื่อให้การขยายตัวของธุรกิจในภาคบริการมีแนวโน้มเติบโตได้อย่างต่อเนื่องต่อไป

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ