SHARE
IN FOCUS
04 สิงหาคม 2010

การท่องเที่ยวไทย แค่ 6% ของ GDP เท่านั้นจริงหรือ?

การท่องเที่ยวไทยมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจมากกว่านั้นมาก โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาผลดีในเชิงมูลค่าเพิ่ม (value added) และการจ้างงาน

ผู้เขียน:   พรเทพ ชูพันธุ์

162813207.jpg

การท่องเที่ยวไทยมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจมากกว่านั้นมาก โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาผลดีในเชิงมูลค่าเพิ่ม (value added) และการจ้างงาน

 
ตัวเลข 6% ของ GDP ที่คนชอบพูดถึงกันนั้นมาจากไหน? ตัวเลขดังกล่าวคำนวณจากข้อมูลรายได้จากการใช้จ่าย (spending) ของนักท่องเที่ยวต่างชาติเฉลี่ยปีละประมาณ 550,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นข้อมูลจากการสำรวจว่านักท่องเที่ยวต่างชาติใช้จ่ายเงินเป็นค่าอะไรบ้างในการมาท่องเที่ยวไทย อย่างไรก็ตาม ยอดการใช้จ่ายดังกล่าวยังไม่รวมค่าโดยสารเดินทางอีกประมาณปีละ 140,000 ล้านบาท ดังนั้น ถึงแม้ว่าจะพูดถึงตัวเลขการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียงอย่างเดียว ตัวเลขที่ถูกต้องก็ควรจะเป็น 8% ของ GDP เป็นอย่างน้อย แต่ถึงอย่างนั้นตัวเลขดังกล่าวก็ยังไม่สะท้อนให้เห็นความสำคัญที่แท้จริงของการท่องเที่ยวไทย

 
ตัวเลขการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ (spending) เพียงอย่างเดียวไม่สื่อถึงความสำคัญของการท่องเที่ยวไทยต่อระบบเศรษฐกิจ หากดูเพียงรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียงอย่างเดียว ถ้ารายได้จากการท่องเที่ยวดังกล่าวลดลง 10% จะส่งผลต่อ GDP ของประเทศเพียง 0.8% เท่านั้น ซึ่งถ้ามีผลกระทบเพียงแค่นั้น ภาครัฐและเอกชนคงไม่รู้สึกเดือดร้อนจากภาวะซบเซาของการท่องเที่ยวไทยมากนัก ทั้งนี้ เราจะเห็นความสำคัญของการท่องเที่ยวไทยได้ชัดเจนมากขึ้นเมื่อพิจารณาผลกระทบในเชิงมูลค่าเพิ่ม (value added) และการจ้างงาน ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อรายได้ ความเป็นอยู่ของแรงงาน และการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว

 
ในเชิงตัวเลข อุตสาหกรรมบางภาคมีขนาดรายได้ใกล้เคียงกับการท่องเที่ยวไทย แต่ภาวะการเปลี่ยนแปลงของรายได้กลับให้ความรู้สึกและผลกระทบน้อยกว่าการเปลี่ยนแปลงของรายได้จากการท่องเที่ยวไทยมาก

 
การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติสำหรับการท่องเที่ยวไทยมีขนาดเทียบเคียงกับมูลค่าที่ต่างประเทศใช้จ่ายเป็นค่าสินค้าส่งออกอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่สร้างมูลค่าเพิ่ม (value added) และการจ้างงานมากกว่ามาก รายได้ที่ได้จากการที่ต่างประเทศใช้จ่ายเป็นค่าสินค้าส่งออกประเภทอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้ามีมูลค่า 9% ของ GDP ซึ่งมากกว่ารายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติในการท่องเที่ยวไทย (8% ของ GDP) เล็กน้อย แต่มีมูลค่าเพิ่ม (value added) และการจ้างงานน้อยกว่ามาก โดยหากพิจารณามูลค่าเพิ่มซึ่งอยู่ในรูปของค่าจ้างแรงงานและผลตอบแทนการผลิตต่างๆ นั้น สาขาการผลิตอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าสร้างมูลค่าเพิ่มเพียงประมาณ 500,000 ล้านบาท หรือประมาณ 6% ของ GDP เท่านั้น ในขณะที่การท่องเที่ยวไทยสร้างมูลค่าเพิ่มเกือบ 1.2 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 13% ของ GDP ทั้งนี้ หัวใจหลักของการท่องเที่ยวที่มีมูลค่าเพิ่มต่อระบบเศรษฐกิจสูงนั้น ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการจ้างงานที่สูงกว่า โดยภาคบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมกับการท่องเที่ยวไทย เช่น โรงแรมและภัตตาคาร การคมนาคมขนส่งและสื่อสาร รวมถึงการค้าปลีกค้าส่งนั้น มีการจ้างงานประมาณ 7 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 20% ของการจ้างงานรวมทั้งประเทศ นั่นหมายความว่าการขึ้นลงของภาวะการท่องเที่ยวไทยสามารถมีผลกระทบต่อแรงงานค่อนข้างมาก และมักเป็นแรงงานที่สามารถปรับเปลี่ยนได้เร็ว ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ผ่านมา ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงถึง 17% ในช่วงไตรมาสสี่ปี 2008 ถึงไตรมาสสามปี 2009 จนทำให้โรงแรมต้องใช้มาตรการลดจำนวนพนักงานลงหรือลดชั่วโมงการทำงานเพื่อลดค่าใช้จ่าย ซึ่งส่งผลให้แรงงานมีรายได้ลดลง

 
การเติบโตของการท่องเที่ยวไทยเป็นประโยชน์ต่อประเทศมากกว่า เนื่องจากมีสัดส่วนรั่วไหลไปต่างประเทศน้อยกว่า ด้วยรายได้เข้าประเทศที่ใกล้เคียงกันระหว่างการท่องเที่ยวไทยและการส่งออกอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้า การท่องเที่ยวจะเอื้อประโยชน์ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศมากกว่า เนื่องจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น ตัวแทนนำเที่ยว โรงแรม เป็นต้น ใช้วัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศเป็นปัจจัยการผลิตในสัดส่วนที่น้อยกว่าโดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 6% ของปัจจัยการผลิตทั้งหมด ในขณะที่กระบวนการผลิตอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในวัตถุดิบนำเข้าเป็นสัดส่วนถึงประมาณ 55% ของปัจจัยการผลิตที่ใช้ทั้งหมด ซึ่งนั่นหมายถึงรายได้ที่จะรั่วไหลไปสู่ต่างประเทศในสัดส่วนที่มากกว่า

 
นอกจากนี้ ประชากรอย่างน้อย 1.2 ล้านคนมีชีวิตความเป็นอยู่พึ่งพิงอยู่กับการท่องเที่ยวโดยตรง พื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของไทยจะพึ่งพิงรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก ทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวขึ้นอยู่กับจำนวนนักท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น เศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 50% โดยเป็นส่วนของโรงแรมและภัตตาคารเกือบ 40% และมีแรงงานที่ทำงานด้านการท่องเที่ยวประมาณ 30% ของการจ้างงานโดยรวมทั้งจังหวัด ทั้งนี้ หากนับจำนวนประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ดังกล่าว เช่น เกาะสมุย เกาะพงัน พัทยา ภูเก็ต กระบี่ เป็นต้นแล้ว จะมีจำนวนกว่า 1.2 ล้านคน นั่นหมายความว่า หากปีใดที่การท่องเที่ยวไทยได้รับผลกระทบและนักท่องเที่ยวจากต่างชาติมีจำนวนลดลงจะส่งผลให้ประชาชนกว่า 1.2 ล้านคนนี้ได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ลดลงตามไปด้วย

 

 

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ