SHARE
SCB EIC ARTICLE
27 เมษายน 2017

เศรษฐกิจ CLMV: เศรษฐกิจเมียนมาขยายตัวบนความเสี่ยงภายในและภายนอก

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 2/2017 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

เศรษฐกิจเมียนมาขยายตัว 6.5% ในปี 2016 และคาดการณ์ว่าจะกลับมาเติบโตได้ดีที่ 7.5% ในปี 2017 โดยในปี 2016 เศรษฐกิจเมียนมาชะลอตัวจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ ภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมฟื้นตัวได้ช้าจากผลกระทบอุทกภัยและดินถล่มในปี 2015 การบริโภคภายในประเทศซบเซาด้วยแรงกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อที่สูงต่อเนื่องเฉลี่ย 10%YOY เมียนมาได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างช้าๆประกอบกับราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำในปีก่อน ส่งผลให้ภาคการส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) ชะลอตัว ดุลการชำระเงินติดลบเพิ่มขึ้นเป็น -0.7% ของ GDP จากการขาดดุลการค้า ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศลดน้อยลง และทำให้ค่าเงินจ๊าดอ่อนค่าต่อเนื่อง ในปี 2017 การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและเอกชน และการลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมเบา และภาคการบริการจากต่างชาติจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ภาคเกษตรกรรมจะมีการขยายตัวกว่า 4% จากปีก่อน แม้ว่าราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก แต่การส่งออกน้ำมันดิบจะยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ตามอุปสงค์ของจีนและตลาดโลก อย่างไรก็ตาม การขาดดุลการชำระเงินจะปรับตัวดีขึ้นจากการกลับมาของเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI)

 

เมียนมาเร่งแก้กฎหมายและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการลงทุนและการทำธุรกิจ พ.ร.บ.จัดตั้งธุรกิจ กฎหมายการแข่งขันทางการค้า และกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ในปี 2017 เพื่อลดความยุ่งยากและเอื้อประโยชน์ในการทำธุรกิจในประเทศ โดยเฉพาะกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ (Myanmar Investment Law: MIL) ที่ปรับปรุงมาตรฐานการทำธุรกิจของนักลงทุนชาวเมียนมาและชาวต่างชาติให้มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลยังเร่งอนุมัติและดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อรองรับการลงทุนในอนาคต

 

ประเด็นที่น่าจับตามองคือท่าทีของนานาชาติที่มีต่อความขัดแย้งภายในเมียนมาและปัญหาสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญา ในปี 2016 สหรัฐฯ ผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรเมียนมาเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศ ต่อมาในช่วงปลายปี 2016 ความขัดแย้งภายในประเทศเพิ่มความตึงเครียดขึ้น เมื่อกองกำลังความมั่นคงของเมียนมาปราบปรามชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ (RaKhine State) อย่างรุนแรง องค์การสหประชาชาติและสหรัฐฯ แสดงความไม่พอใจพร้อมทั้งกดดันรัฐบาลเมียนมาให้เร่งหาทางออก แม้การปราบปรามจะยุติลงแล้วแต่หากปัญหาสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญายังไม่ได้รับการแก้ไข อาจมีความเสี่ยงที่รัฐบาลเมียนมาจะโดนมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่จากต่างชาติได้

 

นัยต่อเศรษฐกิจไทย

  • การชะลอตัวของเศรษฐกิจเมียนมา ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าจากไทยไปเมียนมาในปี 2016 เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย โดยในปี 2017 การส่งออกจากไทยคาดว่าจะดีขึ้นต่อเนื่องเล็กน้อยจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเมียนมา โดยสินค้าส่งออกหลักยังอยู่ในหมวดเครื่องดื่ม น้ำตาลทราย เครื่องจักรกล น้ำมันและเคมีภัณฑ์

  • ในปี 2015 ไทยเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในกลุ่มพลังงานของเมียนมา แต่ในปี 2016 การลงทุนของไทยลดลงกว่า 44%YOY และ 14.2%YOY ในไตรมาส 2 และ 3 ตามลำดับ แต่โครงการต่างๆ ของเมียนมาจะเป็นโอกาสให้นักลงทุนไทยในปี 2017

  • ค่าเงินจ๊าดอ่อนค่าลง เนื่องจากการขาดดุลการค้าต่อเนื่องและการชะลอการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ ในธันวาคม 2016 ค่าเงินจ๊าดมีมูลค่าอยู่ที่ 1,357.5 ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ต่ำสุดนับตั้งแต่การประกาศลอยตัวค่าเงินในเมษายน 2012 โดยตั้งแต่ต้นปี 2017 ที่ผ่านมา ค่าเงินจ๊าดยังคงอ่อนค่าลงอีกเล็กน้อย
    สวนทางกับแนวโน้มค่าเงินภูมิภาคเอเชียที่ปรับตัวแข็งขึ้น
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ