SHARE
SCB EIC ARTICLE
25 เมษายน 2017

เศรษฐกิจจีน: อุปสงค์ในประเทศแข็งแกร่ง แม้รัฐลดกำลังการผลิตส่วนเกิน

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 2/2017 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

เศรษฐกิจจีนในปี 2016 ขยายตัว 6.7% เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐที่ตั้งไว้ 6.5-7.0% ขณะที่ยังสามารถดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจโดยลดกำลังการผลิตส่วนเกินได้ เศรษฐกิจจีนขยายตัวได้ดีตลอดทั้งปี โดยเฉพาะไตรมาส 4 ปี 2016 ที่เศรษฐกิจขยายตัว 6.8% สูงสุดในรอบปี ภาคส่วนที่ขยายตัวได้ดี คือ ภาคค้าส่งค้าปลีก ภาคขนส่ง และภาคอสังหาริมทรัพย์ สะท้อนอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวได้แข็งแกร่ง ขณะที่ภาคก่อสร้างชะลอตัวลง เนื่องจากรัฐบาลลดกำลังการผลิตส่วนเกินในอุตสาหกรรมถ่านหินและเหล็กกล้า

 

อีไอซีคาดว่าอุปสงค์ในประเทศจะเร่งตัวขึ้นจากปีก่อน ทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวไม่รุนแรงนักโดยเติบโต 6.5% ในปี 2017 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและแตะระดับสูงสุดในรอบ 20 เดือนในเดือนมกราคม 2017 บ่งชี้กำลังซื้อในประเทศที่แข็งแกร่งต่อเนื่อง อันเป็นผลดีต่อภาคค้าปลีกค้าส่ง และภาคอุตสาหกรรมเพื่อการบริโภคในประเทศ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวข้องในตลาดโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งได้แรงสนับสนุนจากนโยบายลดกำลังการผลิตส่วนเกินของจีน ทำให้ราคาสินค้าส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นผลดีต่อกำไรของผู้ประกอบการ ทั้งนี้ ในการประชุม National People’s Congress เมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา จีนประกาศขยายเป้าลดกำลังการผลิตให้ครอบคลุมไปยังอุตสาหกรรมซีเมนต์ แก้ว อลูมิเนียม อิเล็กโทรนิกส์ และการขนส่ง นอกเหนือจากถ่านหินและเหล็กกล้า ซึ่งคาดว่าจีนจะทำได้ตามเป้าเช่นเดียวกับปีก่อนที่สามารถลดกำลังการผลิตถ่านหินและเหล็กกล้าถึง 1.26 เท่า และ 1.77 เท่าของเป้าหมายที่ตั้งไว้ ตามลำดับ การปฏิรูปเหล่านี้จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การลงทุนโดยรวมซึ่งมีสัดส่วนถึง 44% ของ GDP อยู่ในทิศทางชะลอลง ขณะที่รัฐบาลยังคงตั้งเป้าขาดดุลการคลังที่ 3% ของ GDP ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อให้เศรษฐกิจไม่ชะลอตัวรุนแรง โดยจีนได้ขยับเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจจีนในปี 2017 ที่ 6.5% ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อน ซึ่งเป็นระดับเดียวกับที่อีไอซีคาดการณ์ไว้

 

มาตรการควบคุมเงินทุนไหลออกของจีนคาดว่าจะประสบความสำเร็จ โดยทำให้เงินทุนไหลออกเพื่อเก็งกำไรชะลอลง เนื่องจากจีนมีนโยบายควบคุมหลายช่องทางและครอบคลุมทั้งบุคคลทั่วไปและบริษัท ทำให้คนจีนนำเงินออกนอกประเทศยากขึ้น อีกทั้งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและการผ่อนปรนเกณฑ์การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ยังจูงใจให้ชาวจีนยังคงลงทุนในประเทศ ทำให้คาดว่ากระแสเงินทุนไหลออกจะบรรเทาลง ในขณะที่เงินหยวนอ่อนค่าลงไม่มากนัก และทำให้เสถียรภาพการเงินของจีนดีขึ้น โดยอีไอซีคาดว่าเงินหยวน ณ สิ้นปี 2017 จะอ่อนค่าลง 4.5% จากปีก่อนมาอยู่ที่ 7.25 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ (อ่านเพิ่มเติมที่ BOX: ตามติดมาตรการควบคุมเงินทุนไหลออกจีน)

 

 

นัยต่อเศรษฐกิจไทย

  • เศรษฐกิจจีนที่มีทิศทางชะลอตัวไม่รุนแรง และภาคการบริโภคที่ยังคงแข็งแกร่งส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าไทยไปยังจีน โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค และด้านการท่องเที่ยวซึ่งจีนเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยกว่า 27% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด

  • นโยบายควบคุมเงินทุนไหลออกของจีนที่เข้มงวดขึ้น จะส่งผลให้ปริมาณเงินทุนจีนที่ไหลเข้าไทยชะลอลง โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์

  • ผู้ประกอบการไทยควรระมัดระวังต้นทุนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะราคาสินค้าโภคภัณฑ์เนื่องจากการลดกำลังการผลิตส่วนเกินของจีน
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ