SHARE
SCB EIC ARTICLE
25 เมษายน 2017

Premium Friday ญี่ปุ่นหวังบริโภคขยับ ต้อนรับศุกร์สิ้นเดือน

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 2/2017  คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

GettyImages-665337006-premium.jpg

 

การบริโภคภาคครัวเรือนของญี่ปุ่นยังคงซบเซา ซึ่งโดยรวมขยายตัวเพียง -0.4%YOY และ 0.4%YOY ในปี 2015 และ 2016 ตามลำดับ ทางรัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้คิดค้นมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นการบริโภคอย่างต่อเนื่องและล่าสุดก็ได้ออกมาตรการ “Premium Friday” ซึ่งเป็นหนึ่งในโปรแกรมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนภายใต้นโยบาย Japan Revitalization Strategy 2016 โดยเชิญชวนให้บริษัทต่างๆ อนุญาตให้พนักงานเลิกงานเร็วขึ้นที่ 15.00 น. ในวันศุกร์สุดท้ายของเดือน ด้วยหวังว่าประชาชนจะออกไปใช้จ่ายตามร้านค้า ร้านอาหาร และแหล่งท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ได้ประกาศให้เริ่มดำเนินการครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2017 ที่ผ่านมา

 

อีไอซีมองว่ามาตรการ Premium Friday จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายได้เพียงบางส่วนเท่านั้น เนื่องจากมาตรการดังกล่าวเป็นเพียงการขอความร่วมมือจากภาคเอกชน กล่าวคือไม่ได้เป็นภาคบังคับให้ทุกบริษัทต้องปฏิบัติตาม ทำให้มีบริษัทที่ให้ความร่วมมือเพียงบางส่วนเท่านั้น อีกทั้ง การอนุญาตให้พนักงานเลิกงานเร็วขึ้นก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะออกไปจับจ่ายใช้สอย ผลของมาตรการดังกล่าวขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของพนักงานบริษัทที่อาจจะเลือกกลับไปพักผ่อนที่บ้านแทนการออกไปใช้จ่าย ทั้งนี้ พฤติกรรมของคนญี่ปุ่นโดยรวมก็ยังมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายและยังต้องการออมในระดับสูง สอดคล้องกับผลสำรวจเกี่ยวกับมาตรการ Premium Friday ที่รายงานโดย Nikkei Asian Review พบว่า มีบริษัทขนาดใหญ่เพียง 5.8% ของบริษัทที่สำรวจทั้งหมด และบริษัทขนาดเล็กเพียง 2.4% ระบุว่าได้ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวแล้ว อีกทั้งจากผลสำรวจพนักงานบริษัท 2,200 คน มีเพียง 3.7% จากทั้งหมดที่ออกจากบริษัทเร็วขึ้นตามการเชิญชวน นอกจากนี้ การสำรวจแผนการใช้จ่ายของประชาชนที่รวบรวมโดย Mizuho Research Institute Ltd. พบว่า ประชาชนส่วนมากวางแผนที่จะพักผ่อนอยู่บ้านหรือใช้เวลากับครอบครัวมากกว่าออกไปจับจ่ายใช้สอย รองลงมาเลือกจะใช้จ่ายด้านบริการมากกว่าการซื้อสินค้า เช่น ท่องเที่ยว ร้านอาหาร เล่นกีฬา และกิจกรรมบันเทิง เป็นต้น

 

การบริโภคมีแนวโน้มถูกกระตุ้นผ่านการท่องเที่ยวได้มากที่สุด แต่ปัจจัยเหนี่ยวรั้งมาตรการอาจมีสาเหตุมาจากวัฒนธรรมองค์กร เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวโดยเฉลี่ยแล้วจะสูงกว่าค่าใช้จ่ายบริการอื่นๆ เช่น การใช้บริการร้านอาหาร โดยการสำรวจของ DeNA Travel Co.,Ltd. ระบุว่า มาตรการนี้ทำให้ประชาชนมีแผนออกไปท่องเที่ยวแบบค้างคืนทั้งในประเทศและนอกประเทศ (เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน) เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผลช่วยส่งเสริมการใช้จ่ายได้อีกประมาณ 0.2 – 0.3 ล้านล้านเยน หรือราว 0.2% ของการบริโภคภาคครัวเรือนทั้งหมด แม้จะไม่ใช่ตัวเลขที่สูงมากนัก แต่มาตรการนี้อาจมีส่วนช่วยให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับดีขึ้นได้ในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมการทำงานของบริษัทญี่ปุ่นนั้น มีลักษณะเฉพาะที่อาจเป็นตัวเหนี่ยวรั้งความสำเร็จของมาตรการได้ กล่าวคือ พนักงานบริษัทส่วนใหญ่จะมีความเกรงใจที่จะออกจากบริษัทก่อนหัวหน้า ดังนั้นแล้ว ในทางปฏิบัติบริษัทญี่ปุ่นที่สามารถตอบรับมาตรการและนำไปใช้ได้จริงอาจมีจำนวนน้อย และยังคงเป็นคำถามที่สำคัญในระยะต่อจากนี้ว่า Premium Friday ในเดือนต่อๆ ไปจะได้รับความสนใจมากขึ้นหรือไม่และจะช่วยกระตุ้นการบริโภคได้มากน้อยเพียงใด

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ