SHARE
SCB EIC ARTICLE
25 เมษายน 2017

เศรษฐกิจญี่ปุ่น: อาศัยแรงสนับสนุนของภาครัฐและเงินเยนอ่อนค่าช่วยในการฟื้นตัว

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 2/2017  คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

เศรษฐกิจญี่ปุ่นไตรมาส 4 ปี 2016 ฟื้นตัวตามการส่งออกที่มีทิศทางดีขึ้นในช่วงปลายปี ซึ่งเศรษฐกิจขยายตัวได้ 1.0%QOQ SAAR หรือ 1.7%YOY ส่งผลให้ทั้งปี 2016 เติบโต 1.0%YOY โดยมูลค่าการส่งออกในเดือนธันวาคมกลับมาขยายตัวได้ 5.4%YOY หลังจากหดตัวลงต่อเนื่อง 14 เดือน เนื่องจากค่าเงินเยนอ่อนค่าลง รวมถึงอุปสงค์โลกเริ่มฟื้นตัวโดยเฉพาะการส่งออกไปจีน ซึ่งภาคการผลิตก็กลับมาขยายตัวได้ตามการส่งออก อย่างไรก็ตาม การบริโภคยังคงเติบโตในระดับต่ำจากปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมผู้สูงอายุและภาวะเงินฝืดที่มีมายาวนาน ทำให้ประชาชนยังระมัดระวังในการใช้จ่าย รวมทั้งมีการออมและการจ่ายค่าประกันในระดับสูง ทั้งนี้ รัฐบาลได้ออกมาตรการ Premium Friday ที่เชิญชวนให้พนักงานเลิกงานเร็วขึ้นในวันศุกร์และออกไปจับจ่ายใช้สอย แต่บริษัทต่างๆ ก็ยังไม่ได้ร่วมมือมากนัก (อ่านเพิ่มเติมที่ Box: Premium Friday ญี่ปุ่นหวังบริโภคขยับต้อนรับศุกร์สิ้นเดือน)

 

เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะทยอยฟื้นตัวต่อไป โดยมีนโยบายทางการคลังเป็นปัจจัยผลักดันหลัก หลังจากนโยบายการเงินหลากหลายรูปแบบได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา สำหรับปี 2017 รัฐบาลญี่ปุ่นมีแนวโน้มหันมาใช้เครื่องมือทางการคลังเป็นหลักมากขึ้น โดยได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่มูลค่า 28 ล้านล้านเยน (5.6% ของ GDP) ซึ่งเป็นงบประมาณจากรัฐ 13.5 ล้านล้านเยน ประกอบด้วย 4 โครงการที่สำคัญได้แก่ 1) โครงสร้างพื้นฐาน
เช่น รถไฟความเร็วสูง Linear Chuo Shinkansen เส้นทางโตเกียว-นาโกย่า ท่าเรือขนาดใหญ่ และสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับโอลิมปิกส์ 2020 2) ส่งเสริมสวัสดิการประชาชน เช่น ปรับปรุงระบบประกันสุขภาพแรงงาน 3) มาตรการช่วยเหลือ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจาก Brexit และ 4) ซ่อมแซมและป้องกันความเสียหายจากแผ่นดินไหวและภัยธรรมชาติ ซึ่งคาดว่าจะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2016 และ 2017 เพิ่มเติมประมาณ 0.1% และ 0.3% ตามลำดับ นอกจากนี้ เงินเฟ้อที่เริ่มสูงขึ้นจะช่วยพยุงภาคการบริโภคไม่ให้ทรุดตัว ทำให้อีไอซียังคงคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นไว้ที่ 1.2%YOY ในปี 2017

 

เงินเยนที่อ่อนค่าลงเป็นอีกแรงสนับสนุนเศรษฐกิจ แต่ยังมีความผันผวนจากความเสี่ยงภายนอก โดยการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะยาวไว้ที่ราว 0% ขณะที่ดอกเบี้ยของสหรัฐฯ สูงขึ้น มีส่วนช่วยสนับสนุนให้เงินเยนมีทิศทางอ่อนค่า อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรปและนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่ทำให้ค่าเงินเยนซึ่งมีฐานะเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย โดนแรงกดดันจากเงินทุนไหลเข้าทำให้เยนแข็งค่าขึ้นได้ นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะต่อไปถือเป็นแรงกดดันต่อ BOJ ที่ยังตรึงดอกเบี้ยไว้ระดับต่ำ โดยอีไอซีมองว่า BOJ จะยังคงเป้าหมายดอกเบี้ยระยะยาวไว้ที่ราว 0% ตลอดปี 2017 แต่อาจปล่อยให้มีความผันผวนจากระดับ 0% ได้มากขึ้น

 

นัยต่อเศรษฐกิจไทย

  • อัตราดอกเบี้ยระยะยาวสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ขณะที่อัตราดอกเบี้ยญี่ปุ่นยังอยู่ในระดับต่ำ จะช่วยสนับสนุนให้เงินเยนยังอยู่ในระดับอ่อนค่ากว่าปีก่อน โดยคาดว่าในปลายปี 2017 จะอยู่ที่ประมาณ 116 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

  • การลงทุนโดยตรงสุทธิ (net FDI) จากญี่ปุ่นที่เข้ามาไทยใน 3 ไตรมาสแรกปี 2016 ลดลง 25%YOY ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรซึ่งมีสัดส่วนรวมกันราว 70% ของ FDI จากญี่ปุ่นทั้งหมด อย่างไรก็ตาม นโยบายการสร้าง Eastern Economic Corridor (EEC) ของรัฐบาลไทย อาจมีส่วนช่วยดึงดูดการลงทุนของญี่ปุ่นกลับมาได้มากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของญี่ปุ่นอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกอยู่แล้ว

  • การส่งออกไปญี่ปุ่นจะขยายตัวเพียงเล็กน้อย เนื่องจากอุปสงค์ในญี่ปุ่นยังอ่อนแอ แต่การส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพื่อไปประกอบที่ญี่ปุ่น และส่งออกต่อไปยังประเทศอื่นมีแนวโน้มขยายตัวได้ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์โลก

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ