SHARE
ECONOMIC OUTLOOK / SCB EIC MONTHLY
26 มกราคม 2017

Outlook ไตรมาส 1/2017

อีไอซีประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2017 แบกรับความเสี่ยงภายนอกที่ต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า แนวโน้มการขยายตัวต้องพึ่งพาการใช้จ่ายในประเทศ ปัญหาที่ยืดเยื้อจากปีก่อนหน้าจะยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง ปัญหาในภาคการเงินของยุโรปและจีน กระบวนการการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระหว่างประเทศและนโยบายเศรษฐกิจทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ และแรงกดดันในภาคการท่องเที่ยวจากการเติบโตที่ช้าลงของจำนวนนักท่องเที่ยวจีน

ดาวน์โหลดเอกสารภาษาไทยเพื่ออ่านต่อฉบับเต็ม

 



สรุปภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2017


อีไอซีประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2017 แบกรับความเสี่ยงภายนอกที่ต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า แนวโน้มการขยายตัวต้องพึ่งพาการใช้จ่ายในประเทศ ปัญหาที่ยืดเยื้อจากปีก่อนหน้าจะยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง ปัญหาในภาคการเงินของยุโรปและจีน กระบวนการการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระหว่างประเทศและนโยบายเศรษฐกิจทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ และแรงกดดันในภาคการท่องเที่ยวจากการเติบโตที่ช้าลงของจำนวนนักท่องเที่ยวจีน อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยจะได้ปัจจัยหนุนจากการใช้จ่ายจากภาคครัวเรือนในประเทศที่มีโอกาสเติบโตจากการฟื้นตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อรายได้ของกลุ่มผู้ส่งออกและครัวเรือนภาคเกษตรในหลายกลุ่มสินค้า อีกทั้งครัวเรือนไทยบางส่วนยังมีภาระรายจ่ายที่ลดลงจากการผ่อนชำระค่าซื้อรถยนต์จากโครงการรถยนต์คันแรกที่หมดลงและจากภาระภาษีเงินได้ที่ลดลงตามการปรับเพิ่มค่าลดหย่อน ด้านการใช้จ่ายจากภาครัฐก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการขยายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ โดยคาดว่าการลงทุนในโครงการดังกล่าวในปี 2017 จะมีเม็ดเงินเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากมูลค่าการลงทุนในปีก่อนหน้า นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสได้รับอานิสงส์เพิ่มเติมจากภาครัฐที่มีแนวโน้มในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง อีไอซีคาดว่าการใช้จ่ายในประเทศจากภาคครัวเรือนและการขยายการลงทุนของภาครัฐจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2017 สามารถขยายตัวได้ที่ 3.3%YOY

 

ตลาดการเงินโลกในปี 2017 จะยังคงผันผวนจากการเปลี่ยนแปลงของนโยบายการเงินในประเทศสำคัญ ความแตกต่างของแนวทางการดำเนินนโยบายจะมีความชัดเจนมากขึ้นด้วยแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่เป็นไปอย่างต่อเนื่องตามสภาวะเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ อีไอซีคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะมี
การขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1-2 ครั้งในปีนี้ ขณะที่กลุ่มประเทศสำคัญอื่นๆ อย่างสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจภายในยังไม่สามารถดำเนินนโยบายการเงินให้สอดคล้องไปกับแนวทางที่ตึงตัวมากขึ้นของสหรัฐฯ ได้ ความแตกต่างดังกล่าวจะทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของโลกเป็นไปอย่างไม่สม่ำเสมอ และก่อให้เกิดความผันผวนสูงในตลาดการเงินเป็นระยะ ด้วยแนวโน้มดังกล่าวนี้กระแสเงินทุนยังมีโอกาสไหลออกเพิ่มเติมจากกลุ่มประเทศเกิดใหม่ รวมทั้งไทยเพิ่มเติมซึ่งมีผลทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ด้วยเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี อีไอซีคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีแนวโน้มคงอยู่ที่ 1.5% ตลอดปี 2017 โดยเงินบาทมีโอกาสที่จะอ่อนค่าต่อเนื่องจากปีก่อนมาอยู่ที่ระดับ 37 ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี

 

 

Bull - Bear: ราคาน้ำมัน

Bear - ราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 1 ปี 2017 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากตลาดน้ำมันยังมีอุปทานส่วนเกินอยู่ แม้ว่า OPEC จะสามารถตกลงกันได้เรื่องโควตาการผลิตน้ำมัน แต่อีไอซีมองว่าการลดปริมาณการผลิตน้ำมันของ OPEC จะไม่ทำให้อุปทานน้ำมันโลกชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจาก OPEC รวมถึงรัสเซีย มีประวัติการผลิตน้ำมันเกินโควตาและไม่สามารถทำตามข้อตกลงได้ในท้ายที่สุด อย่างไรก็ตาม หาก OPEC สามารถลดปริมาณการผลิตได้จริง จนทำให้ราคาน้ำมันดีดตัวสูงขึ้น ผู้ผลิต shale oil ในสหรัฐฯ ซึ่งมีจุดคุ้มทุนเฉลี่ยของราคาน้ำมันที่ 55 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ก็จะกลับมาขุดเจาะอีกครั้ง ทำให้อุปทานน้ำมันสูงขึ้น ส่งผลให้การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันค่อนข้างจำกัด


In focus: มองเศรษฐกิจไทยในยุค Trump นำโลก

 

ชัยชนะที่เหนือความคาดหมายของ Trump ท่ามกลางกระแส anti-establishment ทั่วโลก ได้เปลี่ยนมุมมองเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และเพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกจากความเป็นไปได้ในการใช้นโยบายสุดโต่ง เช่น การทำสงครามการค้ากับจีน หรือ การขับไล่แรงงานผิดกฎหมายในสหรัฐฯ กลับประเทศ ถึงแม้ว่านโยบายเหล่านี้จะไม่ได้พุ่งเป้ามาที่ไทยโดยตรง แต่ก็ส่งผลกระทบในทางอ้อมต่อเศรษฐกิจไทยทั้งจากความผันผวนของตลาดการเงินจากความไม่แน่นอนของนโยบาย และการชะลอของการค้าโลกในกรณีที่สหรัฐฯ ใช้นโยบายกีดกันทางการค้าอีกด้วย  

 

Get the additional info

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ