SHARE
SCB EIC ARTICLE
16 มกราคม 2017

Pivot to Asia: นโยบายปักหมุดของสหรัฐฯ กับการพลิกบทบาทครั้งสำคัญในภูมิภาคเอเชีย

ผู้เขียน: กัลยรักษ์ นัยรักษ์เสรี

เผยแพร่ในนิตยสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนมกราคม 2017

 

GettyImages-626196754 (s).jpg

 

 

If Mr. Trump’s isolationist talk translates into policy, it will probably mean countermanding one of President Barack Obama’s signature foreign affairs forays – the so-called “Asia pivot”.

 

ที่มา: Financial Times, 21 November 2016

 

 

Pivot to Asia คืออะไร

ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา เราอาจจะได้ยินคำว่า Pivot to Asia หรือ นโยบายปักหมุดเอเชีย อยู่บ่อยครั้ง โดยมักจะผูกติดมากับข่าวการเยือนประเทศในเอเชียของประธานาธิบดีโอบามา หรือการรวมกลุ่มเศรษฐกิจการค้าในเอเชียที่สหรัฐฯ เข้าร่วมเป็นสมาชิก  นักวิเคราะห์หลายฝ่ายต่างตีความคำศัพท์ใหม่นี้ไปในทิศทางต่างๆ กันไป แต่โดยสรุป แล้ว Pivot to Asia ก็คือนโยบายของสหรัฐฯ ที่จะเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น

 

นโยบายที่ว่านี้ เริ่มเป็นที่พูดถึงเมื่อปี 2011 ในยุคของประธานาธิบดีบารัค โอบามา โดยมีแรงผลักดันสำคัญมาจากนางฮิลลารี คลินตันซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศในขณะนั้น โดยพอเริ่มประกาศ Pivot to Asia สหรัฐฯ ก็เดินหน้าสานสัมพันธ์กับเอเชียอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นด้านการทูต เศรษฐกิจการค้า รวมถึงด้านการเมืองการทหาร หลายฝ่ายมองว่า Pivot to Asia คือการหวนกลับมาของสหรัฐฯ ที่หันหลังให้เอเชียมาแสนนาน แต่นักวิชาการที่เห็นต่างก็โต้กลับว่านี่ไม่ใช่ ‘การหวนคืน’ สู่เอเชีย เพราะความจริงแล้วสหรัฐฯ ไม่เคยทิ้งหายไปไหน แต่นี่คือการที่สหรัฐฯ หันมาใส่ใจ สนใจจะสร้างสัมพันธ์กับเอเชียให้แน่นแฟ้นขึ้นต่างหาก

ตลอดระยะเวลาเกือบ 6 ปี ประธานาธิบดีโอบามาและทีมได้บินมาเยือนประเทศในแถบเอเชียอยู่หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย ไทย เมียนมา ลาว ฟิลิปปินส์ ทั้งยังเข้าร่วมเป็นสมาชิก East Asia Summit เข้าร่วมการประชุมของประเทศในเอเชียในหลายวาระ เช่น การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่เพิ่งผ่านไป และพยายามผลักดันข้อตกลงความร่วมมือทางการค้า TPP (Trans-Pacific Partnership) ซึ่งมีสหรัฐฯ เป็นหัวเรือใหญ่ นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังเพิ่มกำลังทหารในฐานทัพในประเทศแถบเอเชีย อย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ Pivot to Asia จึงถูกมองในแง่การเมืองว่าเป็นการแสดงว่าสหรัฐฯ ยังคงเป็นผู้นำของโลก และเพื่อคานอำนาจกับชาติที่กำลังแผ่อิทธิพลในเอเชียอย่างจีน

 

อย่างไรก็ดี Pivot to Asia กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าล้มเหลวและไร้ทิศทาง เพราะเมื่อนายจอห์น เคอร์รี่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศแทนคลินตันในปี 2013 เอเชียก็เหมือนจะถูกลืมเลือน เนื่องจากเคอร์รี่มีท่าทีสนใจตะวันออกกลางมากกว่า แต่ถึงอย่างนั้น เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โอบามาก็ยังยืนยันว่าจะเดินหน้านโยบายนี้ต่อ

 

อีกชื่อหนึ่งของ Pivot to Asia

 

นโยบายปักหมุดเอเชียนี้มีอีกชื่อว่า Rebalancing Asia เนื่องจากคำว่า “ปักหมุด” อาจจะสร้างความกังวลให้กับประเทศแถบเอเชียที่มีความรู้สึกเหมือนโดนเพ่งเล็งกันถ้วนหน้า รัฐบาลสหรัฐฯ จึงเปลี่ยนชื่อนโยบายนี้ใหม่เป็น Rebalancing Asia หรือ นโยบายปรับดุลเอเชีย แทน

 

แล้วทำไมเอเชียถึงโดนปักหมุด

 

จุดมุ่งหมายของ Pivot to Asia มีอยู่สองเหตุผลหลัก

 

ข้อแรก คือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เอเชียได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกแห่งใหม่ ทั้งในแง่ของความแข็งแกร่ง และการเติบโตของเศรษฐกิจวัดจากตัวเลข GDP รวมที่โตขึ้นทุกปี ทั้งยังเป็นทวีปที่มีประชากรมากที่สุดในโลก และอาเซียน (ASEAN) ทั้งนี้ จึงจัดว่าเป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่มีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเทียบกับยูโรโซนที่กำลังระส่ำระส่าย เอเชียในสายตาสหรัฐฯก็คือพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่สำคัญ และ TPP เองก็เป็นตัวหลักของนโยบายปักหมุดเอเชีย ที่แสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ ต้องการเชื่อมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิคอย่างจริงจัง

ข้อที่สอง ในแง่ของการเมือง Pivot to Asia ก็คือการที่สหรัฐฯ จะเข้ามาถ่วงดุลอำนาจกับจีน โดยในช่วงที่ผ่านมา จีนได้เดินหน้าสร้างฐานทัพอากาศและฐานทัพเรือเพิ่มอีกถึง 3 แห่งในบริเวณที่ยังมีกรณีพิพาททางทะเลกับประเทศอื่นๆ สร้างความหวาดหวั่นให้กับสหรัฐฯ ที่ตัดสินใจเพิ่มกำลังทหารในฐานทัพที่ตั้งอยู่ในประเทศแถบเอเชีย แน่นอนว่าการเดินหมากของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ย่อมเพิ่มแรงกดดันทางการเมืองในแถบทะเลจีนใต้มากขึ้นไปอีก

 

Pivot to Asia จะอยู่หรือไปในสมัยของทรัมป์

 

ทั่วโลกต่างพากันตกใจเมื่อนายโดนัลด์ ทรัมป์สามารถเอาชนะคลินตัน และก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ คนที่ 45 คำถามถัดมาคือ นโยบายต่างประเทศของโอบามาอย่าง Pivot to Asia จะดำเนินต่อไปหรือไม่

 

นักวิชาการส่วนใหญ่ต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า Pivot to Asia นั้นหายไปแน่ๆ เพราะทรัมป์มีความเห็นไปในทางต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์ (anti-globalization) และดูสนใจจะปกป้องผลประโยชน์ของประเทศตน มากกว่าจะไปยุ่งกับประเทศอื่นๆ

 

หนึ่งในนโยบายที่ทรัมป์ประกาศว่าจะทำอย่างแน่นอนก็คือการถอนตัวจาก TPP ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของนโยบายปรับดุลสู่เอเชียของรัฐบาลโอบามา และยังมีแนวโน้มที่จะลดความช่วยเหลือทางการทหารกับประเทศแถบเอเชีย โดย The Asia Foundation หรือมูลนิธิแห่งเอเชียได้ออกมาแสดงความกังวลถึงประเด็นดังกล่าว เนื่องจากการที่สหรัฐฯ ถอนตัวออกไปอาจทำให้เกิดความไม่มั่นคงในภูมิภาค ทั้งในเรื่องกรณีพิพาทหมู่เกาะกับจีน และประเด็นการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ

แม้หลายฝ่ายจะมองว่า Pivot to Asia จะหายไปในยุคของทรัมป์อย่างแน่นอน แต่ในทางกลับกัน Richard A. Bitzinger แห่งเอเชียไทมส์ 1 และ Brahma Chellaney จาก Nikkei Asian Review2 ได้ให้ความเห็นตรงกันว่า ทรัมป์อาจจะสานต่อนโยบาย Pivot to Asia ในแบบที่โอบามาไม่เคยทำมาก่อนเลยก็ได้ เหตุผลแรกคือการที่ทรัมป์ประกาศจุดยืนที่แข็งกร้าวต่อจีน ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวโจมตีว่าจีนเอาเปรียบสหรัฐฯ โดยการตั้งกำแพงภาษี ลดค่าเงินหยวน แถมยังไม่ยอมร่วมมือเรื่องเกาหลีเหนืออีก เหตุผลที่สองคือนโยบายเพิ่มงบประมาณใช้จ่ายทางทหารในกองทัพที่ทรัมป์สัญญาไว้เมื่อตอนหาเสียง ซึ่งถ้าทรัมป์คิดจะแยกตัวโดดเดี่ยวไม่ยุ่งกับใครจริง เขาจะลงทุนเพิ่มเรื่องการทหารทำไม ส่วนเหตุผลสุดท้าย ในฐานะที่เป็นนักธุรกิจ ทรัมป์คงไม่ถอนตัวออกจากเอเชียโดยสิ้นเชิง เพราะเอเชียยังมีผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจการค้ากับสหรัฐฯ อีกมาก ทรัมป์น่าจะสนใจผลประโยชน์ทางการค้ามากกว่าจะมาใส่ใจเรื่องภายในของประเทศอื่นๆ อย่างประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วยซ้ำ

ถ้าเป็นแบบนั้นจริง ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิคคงจะอยู่ในความสนใจของสหรัฐฯ ต่อไปอีกนาน และไม่แน่ว่า Pivot to Asia ในแบบของทรัมป์อาจจะเป็นยุทธศาสตร์ที่มุ่งไปด้านการทหาร (Military-oriented) มากกว่าสมัยของโอบามาก็เป็นได้

 

เอเชีย สหรัฐฯ และจีน ความสัมพันธ์ท่ามกลางแรงกดดันทางการเมือง

 

อิทธิพลทางทหารเหนือภูมิภาคเอเชียของสหรัฐฯ นั้นมีมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น โดยสหรัฐฯ ได้เข้ามาตั้งฐานทัพในฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ส่วนในปัจจุบัน สหรัฐฯ ก็ยังทำหน้าที่เสมือน ‘ตำรวจโลก’ โดยสำหรับภูมิภาคเอเชียก็คือการคอยแผ่อิทธิพลกดดันเกาหลีเหนือให้หยุดการพัฒนาถือครองอาวุธนิวเคลียร์ และกดดันจีนที่มีท่าทีแข็งข้อไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลในเรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์บนเกาะในน่านน้ำทะเลจีนใต้

 

ทุกวันนี้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงอึมครึม ทั้งจากนโยบายปักหมุดเอเชียที่สหรัฐฯ ตั้งใจจะมาคานอำนาจกับจีน รวมถึงประเด็นละเอียดอ่อนเรื่องชาติระหว่างจีนและไต้หวัน ซึ่งจีนไม่ค่อยพอใจนักที่ทรัมป์ทวีตถึงสายแสดงความยินดีจากประธานาธิบดีไช่อิงเหวินแห่งไต้หวัน ซึ่งแม้ว่าทำเนียบขาวจะออกมายืนยันว่าสหรัฐฯ จะยังคงยึดมั่นในโยบายจีนเดียว (One-China Policy) ที่เป็นรากฐานความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ แต่ทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศยังคงดูคลุมเครือ และคงเป็นประเด็นที่ทั่วโลกต่างจับตามองว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

 

แล้วเอเชียกับไทยจะเป็นอย่างไรต่อไปในยุคของทรัมป์

หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียนั้นพึ่งพาสหรัฐฯ เป็นหลัก หรืออย่างน้อยสหรัฐฯ ก็มีบทบาทสำคัญต่อทิศทางนโยบายของประเทศ ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านผู้นำสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ย่อมมีผลกระทบต่อเอเชียไม่มากก็น้อย โดยเราพอจะสรุปสิ่งสำคัญที่จะเกิดขึ้นกับเอเชียได้ ดังนี้

 

  1. การถอนตัวจาก TPP จะทำให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ เสียผลประโยชน์ เนื่องจาก TPP มีสหรัฐฯ เป็นหัวเรือใหญ่ นายกรัฐมนตรีแห่งญี่ปุ่นและมาเลเซียก็ออกมาพูดตามตรงว่าถ้าไม่มีสหรัฐฯ TPP ก็ไร้ความหมาย โดยหนึ่งในประเทศที่จะเสียผลประโยชน์มากก็คือเวียดนามซึ่งคาดหวังไว้ว่าความสำเร็จของ TPP จะทำให้เศรษฐกิจประเทศโตขึ้นถึง 11% ภายในปี 2025 แต่ในขณะเดียวกัน นี่อาจเป็นโอกาสให้หลายประเทศหันมาพิจารณาข้อตกลงทางการค้าอื่นๆ อย่าง RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ก็ได้

  2. รูปแบบความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศกับสหรัฐฯ จะเปลี่ยนไปในแง่ของผลประโยชน์เป็นหลัก และข้อตกลงทางการค้าก็จะเป็นไปในแบบทวิภาคี (Bilateral) มากกว่าแบบพหุภาคี  (Multilateral) หมายความว่าสหรัฐฯ จะทำการตกลงทางการค้ากับประเทศอื่นแบบเป็นคู่ๆ ไป เช่น สหรัฐฯ-ไทย สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น มากกว่าแบบเป็นกลุ่มอย่าง TPP

  3. เศรษฐกิจจีนจะได้รับผลกระทบโดยเฉพาะในภาคการส่งออก จากนโยบายกีดกันทางการค้าที่สหรัฐฯ วางแผนจะตั้งกำแพงภาษีนำเข้ากับจีน ซึ่งประเทศที่พึ่งพาเศรษฐกิจจีนเป็นหลักก็จะได้รับผลกระทบต่อกันไปเป็นทอดๆ

  4. นโยบายเพิ่มการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของทรัมป์ จะเป็นการเพิ่มเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจและอาจทำให้เกิดเงินเฟ้อ โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve) จะถูกกดดันให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งจะมีผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งขึ้น เนื่องจากกระแสเงินในตลาดโลกต่างไหลไปที่สหรัฐฯ และหากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งขึ้น ก็จะมีผลโดยตรงกับภาคการนำเข้าส่งออกของเอเชียที่มีสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าหลัก

  5. ดุลอำนาจในเอเชียจะเอนเอียงไปที่จีนมากขึ้น หากสหรัฐฯ ตั้งท่าจะลดบทบาทของตนในภูมิภาคเอเชียลงจริงๆ ข้อขัดแย้งในน่านน้ำทะเลจีนใต้อาจทวีความรุนแรง ซึ่งนับเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง เพราะความไม่มั่นคงทางการเมืองการทหารจะทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจ และยับยั้งการลงทุนเพื่อรอดูท่าทีต่อไปก่อน

โดยรวมแล้ว ผลกระทบทางตรงต่อไทยมีไม่มากนักเพราะไม่ได้พึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นหลักเหมือนเวียดนามและกัมพูชา ส่วนใหญ่เป็นผลกระทบทางอ้อมเพราะหากคู่ค้าหลักของไทยอย่างจีนและญี่ปุ่นได้รับผลกระทบ ไทยก็จะเสียผลประโยชน์ไปด้วย อย่างไรก็ตาม ผลกระทบข้างต้นยังคงเป็นเพียงการคาดเดาจากท่าทีของสหรัฐฯ ในปัจจุบัน  เนื่องจากนโยบายส่วนใหญ่ของทรัมป์ยังต้องผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภา โดยเราน่าจะเห็นภาพชัดเจนขึ้นเมื่อเขาเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนมกราคมปี 2017 ในระหว่างนี้ แทนที่จะมากังวลคอยเปลี่ยนนโยบายเพื่อให้สอดคล้องกับท่าทีของสหรัฐฯ ประเทศในเอเชียควรจะหันหน้าเข้าหากัน และหาทางช่วยเหลือกันมากกว่าจะรอการนำทางจากประเทศมหาอำนาจ

 

ในยุคที่เราต่างเผชิญกับความไม่แน่นอน ไม่ว่า Pivot to Asia จะอยู่หรือไป สหรัฐฯ จะกลับมามีบทบาทเหนือเอเชียหรือไม่ สิ่งที่สำคัญกว่าคือการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง เพื่อเตรียมรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

 

RCEP คืออะไร

 

RCEP หรือ ความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค คือข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างกลุ่ม ASEAN+6 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์) โดย RCEP ถูกมองว่าเป็นคู่แข่งของ TPP เพราะทั้งคู่เป็นเขตการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ แต่ต่างกันตรงที่ TPP มีสหรัฐฯ แต่ไม่มีจีน ส่วน RCEP รวมจีนแต่ไม่รวมสหรัฐฯ



1 Trump’s pivot to Asia: A boon for the US arms industry?, 8 December 2016
2 Trump could ‘pivot’ to Asia like Obama never did, 21 November 2016

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ