SHARE
SCB EIC ARTICLE
01 ธันวาคม 2016

ถอดกลไกเชื่อมห่วงโซ่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในเวียดนาม

สัดส่วนมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในเวียดนามมีการขยายตัวขึ้นสูงถึงเกือบ 10 เท่า ในช่วง 10 ปีทีผ่านมา จากแต่ก่อนเมื่อปี 2005 สัดส่วนกว่า 30% ของมูลค่าการส่งออกเวียดนามทั้งหมดจะมาจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ (textiles) เป็นหลัก ในขณะที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีสัดส่วนอยู่เพียงแค่ราว 3% แต่เมื่อปี 2015 ที่ผ่านมานั้น สัดส่วนมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมดังกล่าวมีการขยายตัวขึ้นอย่างมากถึงราว 28% โดยสาเหตุหลักที่ส่งผลให้สัดส่วนมูลค่าการส่งออกดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป มาจากที่ผู้เล่นต่างชาติรายใหญ่ในอุตสาหกรรม อาทิ Samsung LG Intel Microsoft Panasonics ได้หันมาขยายการลงทุนเพื่อสร้างฐานการผลิตในเวียดนามกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นได้จากสัดส่วนของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดในอุตสาหกรรมกว่า 70% จะมาจากผู้เล่นต่างชาติเป็นหลัก อีกทั้งกลุ่มสินค้าที่ผู้เล่นต่างชาติเหล่านี้ได้เลือกเข้าไปผลิตและประกอบในเวียดนามส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง เช่น Smartphone, Chip set, และ Smart appliances เป็นต้น

ผู้เขียน: ธีระยุทธ ไทยธุระไพศาล

เผยแพร่ในโพสต์ทูเดย์ วันที่ 1 ธันวาคม 2016

 

ThinkstockPhotos-122489769.jpg

 

 

สัดส่วนมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในเวียดนามมีการขยายตัวขึ้นสูงถึงเกือบ 10 เท่า ในช่วง 10 ปีทีผ่านมา จากแต่ก่อนเมื่อปี 2005 สัดส่วนกว่า 30% ของมูลค่าการส่งออกเวียดนามทั้งหมดจะมาจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ (textiles) เป็นหลัก ในขณะที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีสัดส่วนอยู่เพียงแค่ราว 3% แต่เมื่อปี 2015 ที่ผ่านมานั้น สัดส่วนมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมดังกล่าวมีการขยายตัวขึ้นอย่างมากถึงราว 28% โดยสาเหตุหลักที่ส่งผลให้สัดส่วนมูลค่าการส่งออกดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป มาจากที่ผู้เล่นต่างชาติรายใหญ่ในอุตสาหกรรม อาทิ Samsung LG Intel Microsoft Panasonics ได้หันมาขยายการลงทุนเพื่อสร้างฐานการผลิตในเวียดนามกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นได้จากสัดส่วนของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดในอุตสาหกรรมกว่า 70% จะมาจากผู้เล่นต่างชาติเป็นหลัก อีกทั้งกลุ่มสินค้าที่ผู้เล่นต่างชาติเหล่านี้ได้เลือกเข้าไปผลิตและประกอบในเวียดนามส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง เช่น Smartphone, Chip set, และ Smart appliances เป็นต้น

 

โดยความเชื่อมโยงทางการค้าในอุตสาหกรรมนี้ระหว่างเวียดนามกับไทยจะเป็นไปในลักษณะของพันธมิตรมากกว่าที่จะเป็นคู่แข่งกัน เนื่องจากปัจจุบันเวียดนามถือว่าเป็นหนึ่งในคู่ค้าสำคัญของไทยที่ยังมีการเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้า Home appliances อาทิ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และเครื่องซักผ้า ที่เป็นกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่ส่งไปยังเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันไทยได้กินส่วนแบ่งในตลาดเวียดนามไปแล้วกว่า 50% นอกจากนั้น ในแง่สินค้าส่งออกหลักของอุตสาหกรรมระหว่างเวียดนามกับไทยที่มีการส่งออกไปยังตลาดโลก ณ ปัจจุบันอาจจะดูเหมือนว่ามีส่วนที่ทับซ้อนกันอยู่ แต่ในความเป็นจริงแล้วสินค้าส่งออกหลักของทั้งสองประเทศกลับเป็นสินค้าคนละประเภทกัน ดังนั้น หากมองเปรียบเทียบความเชื่อมโยงทางการค้าในอุตสาหกรรมนี้ระหว่างไทยกับเวียดนามไปในเชิงของการแข่งขัน อาจจะไม่สามารถสะท้อนความสัมพันธ์ที่แท้จริงของกันและกันได้

 

อีไอซีมองว่าการที่จะเชื่อมห่วงโซ่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในเวียดนามนั้น ไทยมีโอกาสที่จะทำได้ เนื่องจากสัดส่วนการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศของเวียดนามยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ โดยปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่แค่ราว 35-40% อีกทั้ง ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตลาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศของเวียดนามก็มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงมากกว่า 30% ต่อปี ประกอบกับยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่องในระยะต่อไป นอกจากนี้ ภาครัฐของเวียดนามเองก็กำลังอยู่ในช่วงที่จะผลักดันให้มีการใช้วัตถุดิบและผลิตชิ้นส่วนภายในประเทศ (Localization) เพิ่มมากขึ้น โดยกลุ่มสินค้าที่ทางภาครัฐมุ่งเน้นเป็นสำคัญจะอยู่ในกลุ่มสินค้าจำพวก IC PCB Semiconductor และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ซึ่งปัจจุบันผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไทยมีศักยภาพมากพอที่จะผลิตเองได้แล้ว อีกทั้งการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกลไกของห่วงโซ่อุตสาหกรรมนี้ในเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันมีผู้เล่นยักษ์ใหญ่จากเกาหลีใต้ที่เป็นดั่งกลไกหลักในการขับเคลื่อนห่วงโซ่อุตสาหกรรมนั้น ก็จะช่วยเสริมสร้างโอกาสที่ดีให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไทยได้อีกด้วย

 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าโอกาสจะมีสำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไทย แต่ก็ยังมีความท้าทายสำคัญที่ต้องก้าวข้ามไปให้ได้ด้วยเช่นกัน นั้นก็คือ หากผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยมีความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนในเวียดนามนั้น การที่จะต้องเผชิญหน้ากับชิ้นส่วนนำเข้าจากผู้ผลิตจีน ญี่ปุ่น และฮ่องกง ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ส่งออกชิ้นส่วนรายใหญ่ให้กับเวียดนาม ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้และต้องพร้อมในการที่จะรับมือกับความท้าทายนี้ ดังนั้น ปัจจัยเรื่องการลดต้นทุนการผลิตให้สามารถแข่งขันกับชิ้นส่วนนำเข้าได้ ความคุ้มค่าในการลงทุนระยะยาว รวมถึงการเลือกรูปแบบการลงทุน (Wholly owned/JV) เพื่อที่จะเจาะตลาดนี้ในเวียดนาม เป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยควรที่จะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยหากผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยสามารถที่จะพัฒนาศักยภาพของตัวเองให้พร้อมในทุกด้านแล้ว ความเป็นไปได้ที่จะเชื่อมกลไกธุรกิจชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไทยเข้ากับห่วงโซ่อุตสาหกรรมในเวียดนามก็ไม่ใช่สิ่งไกลตัวอีกต่อไป  

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ