SHARE
SCB EIC ARTICLE
13 ตุลาคม 2016

การส่งออก-นำเข้า ไตรมาส 4/2016

(Update!) ปรับประมาณการการนำเข้าและส่งออก คาดส่งออกทั้งปีหดตัวเพียง 0.5% คลิกอ่านต่อ

 

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 4/2016

คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

outlook3Q2014.jpg

 

มูลค่าการส่งออกไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2016 หดตัวที่ 1.2%YOY ซึ่งหากไม่รวมการส่งออกทองคำ มูลค่าการส่งออกจะหดตัวต่อเนื่องที่ 3.5%YOY สะท้อนการส่งออกในภาพรวมที่ยังไม่ฟื้นตัว ปัจจัยกดดันหลักยังคงมาจากเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมโลกที่เติบโตได้ช้า ซึ่งส่งผลให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรม เช่น เครื่องมือเครื่องจักร ชิ้นส่วนอุตสาหกรรม และวัตถุดิบ หดตัวอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ มูลค่าการส่งออกยังคงถูกกดดันจากราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลกระทบต่อสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เช่น เคมีภัณฑ์และพลาสติก และน้ำมันสำเร็จรูป (รูปที่ 21) ในทางกลับกัน กลุ่มสินค้าส่งออกเพื่อการอุปโภคบริโภคบางประเภทสามารถขยายตัวได้ในช่วงที่ผ่านมา เช่น ผลไม้กระป๋องและแปรรูป กุ้งแช่แข็งและแปรรูป และรถยนต์นั่ง เติบโตได้ดีต่อเนื่อง ทั้งนี้ สินค้าเพื่อการบริโภคได้รับประโยชน์จากการบริโภคภาคเอกชนของประเทศต่างๆ ที่ยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

 

อีไอซีมองว่าการส่งออกไทยในปี 2016 จะหดตัวที่ 2.1%YOY โดยได้รับแรงกดดันจากแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบางและการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างการค้าระหว่างประเทศทั้งการชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรมโลกและการหดสั้นลงของห่วงโซ่การผลิตที่ทำให้ปริมาณการค้าโลกในระยะข้างหน้าเติบโตได้ช้าลงเมื่อเทียบกับในอดีต (รูปที่ 22) ประกอบกับสินค้าส่งออกของไทยหลายรายการเริ่มไม่เป็นที่ต้องการในยุคปัจจุบันโดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ดี อีไอซีคาดว่ามูลค่าการส่งออกรวมโดยเฉลี่ยจะสามารถขยายตัวเป็นบวกได้เล็กน้อยในปี 2017ที่ 1.5%YOY โดยได้รับปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ปัญหาภัยแล้งที่คลี่คลายซึ่งทำให้ผลผลิตทางการเกษตรกลับมาขยายตัว และการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีแนวโน้มขยายตัว

 

ในส่วนการนำเข้าปี 2016 จะหดตัวที่ 6.2%YOY มูลค่าการนำเข้าในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2016 หดตัวที่ 8.8%YOY โดยการนำเข้าสินค้าทุนไม่รวมเครื่องบินและเรือยังคงหดตัว สะท้อนการลงทุนในประเทศที่ยังชะลอตัว ทั้งนี้ อีไอซีคาดว่าการลงทุนของภาคเอกชนที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจนในปีนี้ รวมถึงการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลที่มีแนวโน้มจะล่าช้ากว่าที่คาดจะเป็นปัจจัยกดดันต่อการนำเข้าสินค้าทุน นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำจะยังกระทบมูลค่าการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงที่หดตัวมาแล้วกว่า 31%YOY ในช่วง 8 เดือนแรกต่อไปในช่วงที่เหลือของปีนี้ อย่างไรก็ดี แนวโน้มการบริโภคภาคครัวเรือนในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวสูงขึ้น (รูปที่ 23) สำหรับในปี 2017 อีไอซีมองว่ามูลค่าการนำเข้ามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยจะขยายตัวราว 6.1%YOY เนื่องจากราคาน้ำมันที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นจะส่งผลต่อการเติบโตของมูลค่าการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงซึ่งมีสัดส่วนกว่า 12% ของมูลค่าการนำเข้ารวม นอกจากนี้ แนวโน้มการเติบโตของการบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมที่ดีขึ้นในปี 2017 จะนำไปสู่การนำเข้าสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นในปีหน้า

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ