SHARE
FLASH
29 กันยายน 2016

อีไอซีมองน้ำมันดิบมีสัญญาณฟื้นตัวชัดขึ้น หลัง OPEC บรรลุข้อตกลง

ภายหลังการประชุม International Energy Forum (IEF) ณ กรุงอัลเจียร์ส ประเทศแอลจีเรีย ในวันที่ 28 ก.ย. 2016 ประเทศสมาชิกในกลุ่ม OPEC ได้บรรลุข้อตกลงลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบลง ให้อยู่ในช่วง 32.5-33 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 33.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยข้อตกลงนี้ถือเป็นการปรับลดปริมาณการผลิตครั้งแรกในรอบ 8 ปี ของกลุ่ม OPEC หลังจากวิกฤติราคาน้ำมันดิบในปี 2008 อย่างไรก็ดี จะมีการกำหนดปริมาณการผลิตของแต่ละประเทศในการประชุม OPEC ครั้งต่อไป ในเดือน พ.ย. 2016 ซึ่งอาจมีบางประเทศได้รับการยกเว้นไม่ต้องปรับลดปริมาณการผลิตโดยเฉพาะอิหร่าน

ผู้เขียน: เลิศพงศ์ ลาภชีวะสิทธิ์

 

467119309-s.jpg

 

 

Event.png

885_20100622103059.gif

  • ภายหลังการประชุม International Energy Forum (IEF) ณ กรุงอัลเจียร์ส ประเทศแอลจีเรีย ในวันที่ 28 ก.ย. 2016 ประเทศสมาชิกในกลุ่ม OPEC ได้บรรลุข้อตกลงลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบลง ให้อยู่ในช่วง 32.5-33 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 33.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยข้อตกลงนี้ถือเป็นการปรับลดปริมาณการผลิตครั้งแรกในรอบ 8 ปี ของกลุ่ม OPEC หลังจากวิกฤติราคาน้ำมันดิบในปี 2008 อย่างไรก็ดี จะมีการกำหนดปริมาณการผลิตของแต่ละประเทศในการประชุม OPEC ครั้งต่อไป ในเดือน พ.ย. 2016 ซึ่งอาจมีบางประเทศได้รับการยกเว้นไม่ต้องปรับลดปริมาณการผลิตโดยเฉพาะอิหร่าน
Analysis.png

884_20100622103051.gif

  • อีไอซีมองว่าการบรรลุข้อตกลงครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงสัญญาณเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของราคาน้ำมันดิบ และท่าทีที่ชัดเจนของ OPEC ต่อการพยุงราคาน้ำมันดิบ หลังจากมีรายงานข่าวการบรรลุข้อตกลงที่เหนือความคาดหมายนี้ ราคาน้ำมันดิบ Brent ได้ดีดตัวขึ้นกว่า 6% ส่วนตลาดหุ้นยุโรปปรับขึ้นราว 1% ซึ่งถือเป็นสัญญาณบวกต่อราคาน้ำมันดิบ


  • การบรรลุข้อตกลงครั้งนี้ บ่งชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่รุนแรงของสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำต่อกลุ่ม OPEC โดยเฉพาะซาอุดีอาระเบีย เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา อีไอซีได้นำเสนอมุมมองว่าซาอุดีอาระเบียจะขาดดุลงบประมาณภายใน 5 ปี หากราคาน้ำมันดิบยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยปัจจุบัน ปัญหาเศรษฐกิจภายในของซาอุดีอาระเบียรุนแรงชัดเจนมากขึ้น โดยทุนสำรองระหว่างประเทศได้ปรับตัวลดลงไปกว่า 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และขาดดุลงบประมาณไปกว่า 9.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็น 15% ของ GDP โดยรัฐบาลเริ่มลดสวัสดิการต่างๆ ของภาครัฐเพื่อลดรายจ่ายและปัญหาขาดดุลของประเทศ เช่น ลดเงินเดือนของรัฐมนตรีต่างๆ 20% ลดสวัสดิการที่พักและรถยนต์ประจำตำแหน่งราว 15% และลดโบนัสปลายปีกว่า 25-30% ของเงินเดือน เป็นต้น ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ซาอุดีอาระเบียยอมเปลี่ยนท่าที และบรรลุข้อตกลงในการลดปริมาณการผลิตในครั้งนี้ หลังจากพยายามรักษาส่วนแบ่งการตลาดมานานกว่า 2 ปี แม้อาจทำให้อิหร่านซึ่งเป็นคู่แข่งรายสำคัญได้รับส่วนแบ่งการตลาดสูงขึ้น


  • อย่างไรก็ดี ในระยะกลางต้องจับตาปัจจัยที่ยังกดดันราคาน้ำมันดิบ เช่น แนวโน้มการกลับมาเพิ่มปริมาณการผลิตของผู้ผลิต shale ในสหรัฐฯ และท่าทีของรัสเซีย ปริมาณการผลิต shale ในสหรัฐฯ ลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากได้รับแรงกดดันอย่างหนักจากราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำ โดยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในเดือน ส.ค. 2016 อยู่ที่ระดับ 8.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงมา 12% จากระดับสูงสุดที่ 9.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเดือน เม.ย. 2015 อย่างไรก็ดี อีไอซีคาดว่าหากราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นกว่าระดับต้นทุนเฉลี่ยของผู้ผลิต shale ที่ราว 50-60 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อาจจะทำให้ผู้ผลิต shale กลับมาเริ่มผลิตอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นได้ไม่มากนัก นอกจากนี้ ยังคงต้องจับตาปริมาณการผลิตของรัสเซีย เนื่องจากในช่วงภาวะราคาน้ำมันดิบตกต่ำ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียกลับเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ราว 11.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือสูงขึ้นเกือบ 10% เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี 2014 ก่อนราคาน้ำมันดิบตกต่ำ
Implication.png

886_20100622103105.gif

  • อีไอซีมองราคาน้ำมันดิบในปี 2017 จะยังมีความผันผวน แต่มีแนวโน้มค่อยๆ ฟื้นตัว โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเริ่มเข้าสู่สมดุลของอุปสงค์และอุปทานน้ำมันดิบ โดยอีไอซีคาดว่าในช่วงที่เหลือของปี 2016 ราคาน้ำมันดิบ Brent มีแนวโน้มสูงขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 48-50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และคาดว่าในปี 2017 ราคาน้ำมันดิบ Brent จะอยู่ที่ 52-55 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากการเริ่มเข้าสู่สมดุลของอุปสงค์และอุปทาน โดยการที่กลุ่ม OPEC บรรลุข้อตกลงลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบครั้งนี้จะทำให้อุปทานน้ำมันดิบลดลงราว 4 แสนบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาอุปทานส่วนเกินที่ปัจจุบันมีอยู่ราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตาดูการประชุมของกลุ่ม OPEC ในช่วงปลายเดือน พ.ย. 2016 ว่ากลุ่ม OPEC จะสามารถทำตามข้อตกลงในครั้งนี้ได้หรือไม่ นอกจากนี้ การกลับมาดำเนินการผลิตของผู้ผลิต shale ในสหรัฐฯ และท่าทีของรัสเซีย จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบในระยะกลาง

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ