SHARE
IN FOCUS
23 พฤษภาคม 2016

ปรับกลยุทธ์บุกชิงตลาดแอลอีดี

อุตสาหกรรมหลอดไฟส่องสว่างแบบแอลอีดี (LED Lighting) ของไทยในปัจจุบัน กำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยี และกำลังเติบโตไปพร้อมๆ กับตลาดโลกที่มีอัตราการเติบโตต่อปีเฉลี่ยสูงถึงราว 35% โดยอีไอซีมองว่าการเติบโตของตลาดจะเป็นการเพิ่มโอกาสสำหรับการลงทุนที่มากขึ้น ประกอบกับการสร้างโอกาสในอุตสาหกรรมจากการผลิตไปสู่การบริการมากขึ้น โดยในระยะยาวต้องศึกษาเทคโนโลยีที่ใกล้เคียงกันควบคู่ไปด้วย

ผู้เขียน: ธีระยุทธ ไทยธุระไพศาล


ThinkstockPhotos-453236367-s.jpg

Highlight

  • อุตสาหกรรมหลอดไฟส่องสว่างแบบแอลอีดี (LED Lighting) ของไทยในปัจจุบัน กำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยี และกำลังเติบโตไปพร้อมๆ กับตลาดโลกที่มีอัตราการเติบโตต่อปีเฉลี่ยสูงถึงราว 35% โดยอีไอซีมองว่าการเติบโตของตลาดจะเป็นการเพิ่มโอกาสสำหรับการลงทุนที่มากขึ้น ประกอบกับการสร้างโอกาสในอุตสาหกรรมจากการผลิตไปสู่การบริการมากขึ้น โดยในระยะยาวต้องศึกษาเทคโนโลยีที่ใกล้เคียงกันควบคู่ไปด้วย

 

มูลค่าของตลาดหลอดไฟส่องสว่างแบบแอลอีดีทั่วโลกมีการเติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดดในระยะที่ผ่านมา จากวิวัฒนาการของเทคโนโลยีในอุตสาหกรรม ปีนี้คาดการณ์ว่ามูลค่าของตลาดหลอดไฟส่องสว่างแบบแอลอีดีจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงถึงราว 30 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากเดิมในปี 2010 ที่มีอยู่แค่ราว 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (รูปที่ 1) ทั้งนี้ อัตราการเติบโตต่อปีเฉลี่ยที่สูงถึงราว 35% เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเข้ามาของเทคโนโลยี SSL (Solid-State Lighting) ในช่วงปี 2000 ซึ่งในช่วงเวลานั้น SSL ถือว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่สำหรับอุตสาหกรรมหลอดไฟส่องสว่างทั่วโลก ที่ใช้แหล่งกำเนิดแสงของหลอดไฟมาจากแอลอีดี (Light-Emitted Diode: LED) โดยภายในระยะเวลาเพียงแค่ 10 ปี หลังจากการเข้ามาของ SSL หลอดไฟส่องสว่างแบบแอลอีดีถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วจนสามารถที่จะแข่งขันกับหลอดไฟส่องสว่างแบบดั้งเดิมได้1 ซึ่งในปัจจุบันหลอดไประเภทนี้สามารถที่จะสร้างข้อได้เปรียบที่ดีกว่าหลอดไฟส่องสว่างแบบดั้งเดิมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของประสิทธิภาพ (efficacy) ที่สูงกว่าเกือบ 50% รวมไปถึงค่าความถูกต้องของสี (Color Rendering Index: CRI) และค่าสีของแสงไฟจากอุณหภูมิหลอด (Correlated Color Temperature: CCT) ซึ่งทำให้ได้ภาพที่ใกล้เคียงความเป็นจริงมากกว่า นอกจากนี้ อายุการใช้งานยังยาวนานกว่า 2-5 เท่า (life time) (รูปที่ 2) หากมีการพิจารณาโดยรวม ประมาณการได้ว่าหลอดไฟส่องสว่างแบบแอลอีดีจะสามารถลดค่าไฟฟ้าได้ถึง 80% ส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาใช้หลอดไฟประเภทนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ไทยหันมาใช้หลอดไฟส่องสว่างแบบแอลอีดีมากขึ้น อีกทั้งตลาดในประเทศยังมีทิศทางการเติบโตตามตลาดโลก แม้ว่าตลาดหลอดไฟส่องสว่างแบบแอลอีดีส่วนใหญ่จะอยู่ที่ยุโรป จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ซึ่งมีมูลค่าของตลาดรวมกันกว่า 70% ของมูลค่าตลาดทั้งหมดทั่วโลก (รูปที่ 1) แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลอดไฟประเภทนี้เริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมมากขึ้นในไทย โดยปี 2015 มูลค่าของตลาด2มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงราว 36% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งปรับขึ้นมาอยู่ที่ราว 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (~0.4% ของมูลค่าตลาดไฟส่องสว่างแบบแอลอีดีทั่วโลก) สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของตลาดทั่วโลก ทั้งนี้ คาดว่าปีนี้ มูลค่าของตลาดในไทยมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ราว 115 - 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากแนวโน้มการนำเข้าของไทยซึ่งคิดเป็น 90% ของมูลค่าตลาดในไทยที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมูลค่าการนำเข้าของไทยในไตรมาส 1 ของปี 2016 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงราว 20% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่ด้านอุปทานของไทยก็มีผู้ประกอบการหลอดไฟประเภทนี้กว่า 100 บริษัทที่ดำเนินกิจการครอบคลุมตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน (value chain) (รูปที่ 3) ตั้งแต่การผลิตชิป การประกอบหลอดไฟ การออกแบบแสงและการติดตั้ง โดยนับแต่ต้นปี 2015 มาจนถึงปัจจุบัน มีผู้ประกอบการที่ยื่นขอสิทธิประโยชน์จากบีโอไออย่างต่อเนื่อง คิดเป็นมูลค่ารวมอยู่ที่ราว 4.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ปัจจุบันไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้าจากจีนอยู่เป็นส่วนใหญ่ราว 80% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด เนื่องจาก จีนมีข้อได้เปรียบในเรื่องของต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่า

ทั้งนี้ อีไอซีมองว่าไทยยังมีโอกาสที่จะพัฒนาและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมนี้ได้ในระยะนี้ จากขนาดตลาดของไทยในปัจจุบันประกอบกับแนวโน้มการเติบโตของตลาดโลก สัดส่วนการใช้หลอดไฟส่องสว่างแบบแอลอีดียังมีอยู่แค่ราว 30% ของตลาดหลอดไฟส่องสว่างทั้งหมด นับว่าตลาดยังมีพื้นที่ที่จะเติบโตได้อีกราว 5 ปีต่อจากนี้กว่าจะถึงจุดอิ่มตัว ทั้งนี้ ไทยมีโอกาสที่จะจับตลาดในประเทศที่เพิ่มขึ้นได้ด้วยการพัฒนาศักยภาพห่วงโซ่อุปทานในทุกช่วง ซึ่งมีโอกาสและความท้าทายแตกต่างกันไป โดยอีไอซีมองว่าโอกาสน่าจะมีอยู่ในช่วงของอุตสาหกรรมปลายน้ำที่เป็นส่วนของการออกแบบแสงและการติดตั้งมากกว่าอยู่ในส่วนของการผลิตของอุตสาหกรรมกลางน้ำ เนื่องจากอุตสาหกรรมกลางน้ำของไทยยังมีความท้าทายในเรื่องของการจัดการต้นทุนอยู่ เมื่อเทียบกับผู้เล่นรายใหญ่อย่างจีนที่มีข้อได้เปรียบในด้านของปริมาณ รวมไปถึงในระยะยาวยังมีข้อกังวลในเรื่องของเทคโนโลยีของแผงส่องสว่างแบบโอแอลอีดี (Organic Light-Emitted Panel: OLED Panel) ที่จะเข้ามาทดแทน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้เล่นในอุตสาหกรรมกลางน้ำได้ ขณะที่อุตสาหกรรมปลายน้ำมีโอกาสที่จะสร้างข้อได้เปรียบในเรื่องของการตอบสนองต่อความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของตลาดภายในประเทศได้ รวมถึงยังสามารถที่จะต่อยอดได้แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีทดแทนใหม่เข้ามาในระยะต่อไป ทั้งนี้ ปัจจุบันภาครัฐได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนต่างๆ ที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการที่จะมาลงทุนในอุตสาหกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในรูปแบบของ super cluster และ/หรือ การลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น โดยการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ได้สิทธิประโยชน์สูงสุดอีกด้วย ทั้งนี้ จะช่วยผลักดันให้อุปทานของประเทศมีการขยายตัวขึ้น ตามลำดับ นอกจากนี้ ภาครัฐยังได้ออกมาตรการส่งเสริมการใช้หลอดไฟส่องสว่างแบบแอลอีดีในประเทศ ตามแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี (Energy Efficiency Plan 2015 - 2036; EEP2015) เพื่อที่จะลดปริมาณการใช้พลังงานของประเทศลง โดยมีโครงการนำร่องใช้ในอาคารของรัฐ เช่น โครงการเปลี่ยนหลอดไฟส่องสว่างของถนนแบบดั้งเดิมเป็นหลอดแบบแอลอีดีจำนวน 200,000 ดวง ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ด้วยงบประมาณราว 140 ล้านบาท เป็นต้น ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันให้ความต้องการใช้ภายในประเทศมีการปรับตัวสูงขึ้น


1 หลอดไฟส่องสว่างแบบดั้งเดิม คือ หลอดไฟแบบที่ใช้ไส้ทังสเตนและหลอดไฟแบบใช้ก๊าซ เช่น หลอดฟลูออเรสเซนต์ เป็นต้น

2 มูลค่ารวมของตลาดในไทย = มูลค่าที่ผลิตได้ในประเทศ + มูลค่าการนำเข้าจากต่างประเทศ

Implication.png

Implication.gif

  • อีไอซีแนะผู้ประกอบการควรที่จะปรับกลยุทธ์ให้ทันกับการการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เนื่องจากเป็นธรรมชาติของอุตสาหกรรมที่ต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ผู้ประกอบการควรที่จะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของกิจการให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน เช่น ลดการผลิตหลอดไฟแบบดั้งเดิมลง มองหาโอกาสใหม่ๆ ในการเข้าไปร่วมทุน หรือควบรวมกิจการกับผู้ประกอบการที่มีเทคโนโลยีในการผลิตหลอดไฟส่องสว่างแบบแอลอีดี เป็นต้น ทั้งนี้ การเร่งพัฒนาเทคโนโลยีทดแทนที่กำลังจะเข้ามาอย่างเทคโนโลยีการผลิตแผงไฟส่องสว่างแบบโอแอลอีดีก็เป็นสิ่งสำคัญที่ควรมุ่งเน้นด้วย เพื่อที่จะช่วยให้กิจการสามารถดำเนินต่อไปได้ทั้งในระยะนี้และระยะต่อไป

  • นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรที่จะวางแผนเพิ่มยอดขายจากตลาดที่เติบโตขึ้น จากการที่ตลาดยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้อีกราว 5 ปีกว่าจะถึงจุดอิ่มตัว ดังนั้น การเร่งเพิ่มยอดขายจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรจะมุ่งเน้นในระยะนี้ ควบคู่ไปกับการมองหาแนวทางในการเพิ่มศักยภาพของกิจการไปในรูปแบบของการบริการ (ออกแบบและติดตั้ง) ให้มากขึ้น เนื่องจาก เป็นส่วนที่มีมูลค่าเพิ่มซึ่งสูงกว่าการผลิต นับว่าจะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการได้ในระยะต่อไป

 

 

รูปที่ 1: มูลค่าของตลาดหลอดไฟส่องสว่างแบบแอลอีดีทั่วโลก และสัดส่วนมูลค่าของตลาดโลกในปี 2015E จำแนกตามกลุ่มประเทศต่างๆ

หน่วย: พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

figure01_note.jpg

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ A.T.Kearney และ LEDinside

 

รูปที่ 2: ตารางเปรียบเทียบคุณสมบัติของหลอดไฟส่องสว่างจำแนกตามชนิดของหลอดในแต่ละประเภท

figure02_note.jpg

ที่มา: ข้อมูลจากงาน Thailand LED Expo 2016 ซึ่งบรรยายโดยการไฟฟ้านครหลวง

 

รูปที่ 3: ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมหลอดไฟส่องสว่างแบบแอลอีดี
figure03_note.jpg

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของอุดมวิทิต (2558)

 

Get the additional info

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ