SHARE
SCB EIC ARTICLE
04 กุมภาพันธ์ 2016

เปิดโอกาสธุรกิจรองรับนักท่องเที่ยวทางรถยนต์ (motorist tourism)

การเปิดประชาคมอาเซียนนั้นนอกจากจะเป็นโอกาสสำหรับการขยายการลงทุนในธุรกิจด้านการท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นการขยายฐานตลาดนักท่องเที่ยวให้กับประเทศสมาชิก

ผู้เขียน: ลภัส อัครพันธุ์ 

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2016

 

ThinkstockPhotos-453758149.jpg
 

การเปิดประชาคมอาเซียนนั้นนอกจากจะเป็นโอกาสสำหรับการขยายการลงทุนในธุรกิจด้านการท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นการขยายฐานตลาดนักท่องเที่ยวให้กับประเทศสมาชิก ทั้งนี้ ประเทศในอาเซียนยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีชื่อเสียงในด้านความคุ้มค่า ความปลอดภัยและวัฒนธรรมที่หลากหลายของคนในท้องถิ่น โดยในปี 2015 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในอาเซียน 98 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7.3% จากปีก่อนหน้า ทั้งนี้ การร่วมมือกันเพื่อพัฒนาการเชื่อมต่อระหว่างประเทศจะทำให้การเดินทางทางถนนของนักท่องเที่ยวต่างชาติมีความสะดวกมากขึ้น ซึ่งช่วยดึงดูดให้นักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวแนวผจญภัยหันมาเดินทางด้วยรถยนต์มากขึ้น โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวผ่านเข้าประเทศตามด่านภาคพื้นดิน (visitor arrival by land) มีการเติบโตมากถึง 9% ต่อปี

 

ปัจจุบัน ไทยมีเส้นทางระหว่างประเทศระดับอาเซียนจำนวน 4 สาย แบ่งเป็น (1) เส้นทาง R1 ถนนสายกรุงเทพฯ - พนมเปญ – โฮจิมินห์ซิตี้ - วังเตา (2) เส้นทาง R2 ถนนเชื่อมโยงแนวตะวันออก - ตะวันตก (east - west corridor) ไทย - ลาว – เวียดนาม (3) เส้นทาง R3A ไทย-ลาว-จีน และเส้นทาง R3B ไทย-พม่า-จีน(4) เส้นทาง R10 ถนนเลียบชายฝั่งทะเล ไทย - กัมพูชา – เวียดนาม และยังมีโครงการโครงข่ายทางหลวงเอเชีย (AH) ที่เป็นเส้นทางระดับเอเชียผ่าน 17 ประเทศ และตัดผ่านในไทยถึง 12 สาย ทั้งนี้ เส้นทางเหล่านี้จะตัดผ่านสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย ประกอบกับการที่ภาครัฐมีแผนที่จะสนับสนุนการท่องเที่ยวท้องถิ่นชุมชนมากขึ้นผ่านโครงการ 1 ตำบล 1 แหล่งท่องเที่ยว โดยจะลงทุนสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ เพื่อช่วยกระจายรายได้สู่ตำบลและอำเภอ รวมถึงสร้าง road side station เหมือนในญี่ปุ่น แทนการจอดรถตามปั๊มน้ำมัน จะทำให้เกิดการใช้จ่ายและการซื้อสินค้าท้องถิ่นมากขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ให้ความสนใจในการท่องเที่ยวข้ามชายแดนระหว่างประเทศในแถบ CLMV มากขึ้น โดยเส้นทางที่มีศักยภาพในการท่องเที่ยว ได้แก่ เส้นทาง R3A ซึ่งพบว่าจำนวนการเดินทางเข้า-ออกผ่านด่านชายแดนเชียงแสนและเชียงของ จังหวัดเชียงรายที่เป็นจุดผ่านแดนกับประเทศลาว โดยเฉพาะภายหลังการเปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 4 ในปี 2013 มีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นจาก 8% เป็น 14% ต่อปี

 

นอกจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไว้เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้วนั้น รัฐบาลในแต่ละประเทศสมาชิกกำลังอยู่ในช่วงหารือและปรับปรุงกฎระเบียบและระบบการจัดการต่างๆ ให้การเชื่อมโยงสามารถเข้าไปถึงประเทศสมาชิกได้มากที่สุด โดยปัจจุบันการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศสำหรับประชากรในประเทศสมาชิกส่วนใหญ่สามารถทำได้โดยไม่ต้องขอ Visa แล้ว แต่การร่วมมือกันเพื่อให้เกิด ASEAN Single Visa สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้นจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงหลายๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการค้ามนุษย์ อาชญากรรมข้ามชาติ และการค้ายาเสพติด เป็นต้น ดังนั้น รัฐบาลในแต่ละประเทศสมาชิกจำเป็นที่จะต้องใช้เวลาศึกษาถึงผลกระทบต่างๆ ที่จะตามมาก่อนจะนำมาปฏิบัติใช้จริง ทั้งนี้ ในด้านผลดีของข้อตกลงดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นสามารถมองได้จากตัวอย่างกลุ่มประเทศในแถบยุโรปที่ภายหลังการร่วมมือระหว่างประเทศในการจัดตั้งวีซ่ากลาง (Schengen Agreement) โดยในช่วง 5 ปี หลังจากมีการจัดตั้งวีซ่ากลางนั้นมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศสมาชิกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5% ต่อปี จากเดิมอยู่ที่  3% ต่อปี ซึ่งได้สร้างโอกาสทางธุรกิจด้านการท่องเที่ยวมากมายสำหรับผู้ประกอบการตามท้องถิ่น

 

ทั้งนี้ การที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางในรูปแบบใหม่ๆ จะทำให้เกิดความต้องการด้านการบริการในสถานที่ท่องเที่ยวที่หลากหลายขึ้น ซึ่งจะขยายโอกาสการลงทุนในธุรกิจหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนด้านโรงแรม จุดพักรถ ร้านอาหาร บริษัททัวร์ ห้างสรรพสินค้า ตลาดรวมสินค้าต่างๆ รวมถึงธุรกิจจัดทัวร์คาราวานเดินทางท่องเที่ยวข้ามประเทศที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น โดยจากการสุ่มสำรวจรายได้ของผู้ประกอบการจัดทัวร์คาราวานบางรายที่เพิ่งจดทะเบียนพบว่ามีผลประกอบการที่ดีและมีอัตราเติบโตของรายได้กว่า 50% ต่อปี ทั้งนี้ ทางบริษัทจัดทัวร์คาราวานจะเป็นผู้ดำเนินการงานเอกสารประสานงานกับเครือข่ายในแต่ละประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกด้านเอกสารการเดินทางที่ยังมีความยุ่งยาก ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดหลักในปัจจุบันสำหรับการเปิดเสรีการท่องเที่ยวทางถนนในแถวประเทศอาเซียนอย่างแท้จริง นอกจากนี้ธุรกิจใหม่ที่ควรจับตามองอีกประเภทหนึ่ง คือธุรกิจให้เช่ารถยนต์ ที่จะมีไว้เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวแบบคาราวานที่มีแนวโน้มเดินทางไปเที่ยวด้วยตนเอง

ทั้งนี้ หากภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันผลักดันให้การท่องเที่ยวทางถนนเชื่อมต่อกันในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงเป็นไปได้อย่างสะดวกมากขึ้น ก็จะเป็นการช่วยเพิ่มมิติใหม่ให้กับการท่องเที่ยว ขยายตลาดจากแหล่งท่องเที่ยวเดิมๆ และกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นไปพร้อมๆ กันได้อีกด้วย

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ