SHARE
FLASH
02 ธันวาคม 2015

FAA สหรัฐฯ ประกาศลดระดับมาตรฐานด้านการบินของไทยให้อยู่ในประเภทที่ 2

สำนักงานบริหารองค์กรการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (Federal Aviation Administration: FAA) ได้ประกาศลดระดับมาตรฐานด้านการบินของไทยจากประเภท 1 (Category 1) เป็นประเภท 2 (Category 2) ส่งผลให้สายการบินสัญชาติไทยไม่สามารถเพิ่มความถี่ของสายการบินเดิมหรือเพิ่มเที่ยวบินสู่จุดหมายปลายทางในสหรัฐฯ ได้

ผู้เขียน: ดร. สุปรีย์ ศรีสำราญ และ อิสระสรรค์ กันทะอุโมงค์

 

ThinkstockPhotos-180414810.jpg

 

Event.png

 Event.gif

  • สำนักงานบริหารองค์กรการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (Federal Aviation Administration: FAA) ได้ประกาศลดระดับมาตรฐานด้านการบินของไทยจากประเภท 1 (Category 1) เป็นประเภท 2 (Category 2) ส่งผลให้สายการบินสัญชาติไทยไม่สามารถเพิ่มความถี่ของสายการบินเดิมหรือเพิ่มเที่ยวบินสู่จุดหมายปลายทางในสหรัฐฯ ได้
Analysis.png

 Analysis.gif

  • อีไอซีประเมินว่าการปรับลดระดับของ FAA จะไม่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวของไทยอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ การบินไทยซึ่งเป็นสายการบินสัญชาติไทยเพียงรายเดียวที่ทำการบินไปยังสหรัฐฯ ได้ยกเลิกเส้นทางบินไปกลับ กรุงเทพฯ-โซล-ลอสแองเจลิส สหรัฐฯ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2015 รวมถึงยังไม่มีแผนเพิ่มจุดบินใหม่ในสหรัฐฯ จึงทำให้สายการบินสัญชาติไทยไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับลดระดับของ FAA นอกจากนี้ การที่ผู้โดยสารสามารถเลือกใช้บริการของสายการบินอื่นทดแทนสายการบินของไทย ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปรับลดอันดับความปลอดภัยดังกล่าว
Implication.png

Implication.gif

  • ยังคงต้องจับตาผลการประเมินของ EASA ซึ่งมีแนวโน้มสอดคล้องกับผลการประเมินของ FAA จากกรณีศึกษาของอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์พบว่า ผลการประเมินของ FAA และสำนักงานบริหารความปลอดภัยด้านการบินของสหภาพยุโรป (European Aviation Safety Agency: EASA) มักจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยในกรณีของอินโดนีเซียนั้น FAA ปรับลดระดับมาตรฐานด้านการบินในเดือนเมษายน 2007 และ EASA มีคำสั่งห้ามสายการบินอินโดนีเซียบินเข้าน่านฟ้าสหภาพยุโรปตามมาในเดือน มิถุนายน 2007 สอดคล้องกับกรณีของฟิลิปปินส์ที่ FAA ปรับลดระดับมาตรฐานด้านการบินในปี 2008 และ EASA มีคำสั่งห้ามสายการบินของฟิลิปปินส์บินเข้าสหภาพยุโรปในปี 2010


  • อย่างไรก็ดี หาก EASA มีคำสั่งห้ามสายการบินสัญชาติไทยบินเข้าสู่ยุโรป แต่อีไอซีคาดว่าการบินไทยมีแนวโน้มได้รับการยกเว้นไม่ถูกขึ้นบัญชีดำ (Blacklist) ทั้งนี้ คาดว่า EASA จะประกาศผลการตรวจสอบมาตรฐานการบินของไทยภายในวันที่ 10 ธันวาคม 2015 และไทยมีความเสี่ยงในการถูกขึ้นบัญชีดำในลักษณะเดียวกับอินโดนีเซียและ ฟิลิปปินส์ แต่อีไอซีประเมินว่า การบินไทยซึ่งเป็นสายการบินสัญชาติไทยเพียงแห่งเดียวที่มีเส้นทางสู่ยุโรป อีกทั้งได้รับประกาศนียบัตรสายการบินที่ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัยจาก IATA (IATA Operational Safety Audit: IOSA) จะยังคงสามารถให้บริการการบินสู่ยุโรปได้ ทำให้สถานการณ์อาจไม่รุนแรงมากนัก คล้ายคลึงกับกรณีของอินโดนีเซีย ซึ่งถูกขึ้นบัญชีดำจาก EASA แต่ยังคงมีสายการบินสัญชาติอินโดนีเซียถึง 4 สายที่ได้รับการยกเว้น ทำให้ยังสามารถทำการบินสู่ยุโรปได้


  • การปักธงแดงขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และการลดระดับของ FAA เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ไทยต้องเร่งแก้ไขปัญหามาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินของประเทศ จากผลการประเมินของ ICAO และ FAA ทำให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องของไทยควรร่วมมือกันแก้ปัญหาด้วยความรอบคอบ โดยเฉพาะประเด็นการทบทวนการออกใบรับรองการเดินอากาศ (Air Operator’s Certificate: AOC) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่ออุตสาหกรรมการบินของประเทศ ทั้งนี้ จากบทเรียนของอินเดียพบว่าการคืนสถานะของ FAA สามารถทำได้ในระยะเวลาไม่นานนัก หากมีการดำเนินการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม โดยอินเดียมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการในการออกใบอนุญาตใหม่ และใช้ระยะเวลาเพียง 1 ปี ในการเลื่อนอันดับเป็นประเภท 1 ของ FAA

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ