SHARE
FLASH
24 พฤศจิกายน 2015

มูลค่าการส่งออกไทยเดือนตุลาคมหดตัวกว่า 8.1%YOY ลดลงมากสุดในปีนี้

กระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าการส่งออกไทยเดือนตุลาคมอยู่ที่ 18,566 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือหดตัวกว่า 8.1%YOY โดยหดตัวลงมากที่สุดในปีนี้และรุนแรงกว่าเมื่อเดือนก่อนหน้า ทำให้มูลค่าการส่งออกไทยลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 ด้านการนำเข้าอยู่ที่ 16,465 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวลงกว่า 18.2%YOY ในเดือนตุลาคม ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าที่หดตัวมากกว่าการส่งออก ส่งผลให้ไทยยังคงเกิดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนตุลาคมไทยเกินดุลการค้าเพิ่มที่ราว 2,101 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ผู้เขียน: ดร.ชุติมา ตันตะราวงศา และ วรดา ตันติสุนทร

 

outlook3Q2014.jpg

 

Event.png

 Event.gif

  • กระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าการส่งออกไทยเดือนตุลาคมอยู่ที่ 18,566 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือหดตัวกว่า 8.1%YOY โดยหดตัวลงมากที่สุดในปีนี้และรุนแรงกว่าเมื่อเดือนก่อนหน้า ทำให้มูลค่าการส่งออกไทยลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 ด้านการนำเข้าอยู่ที่ 16,465 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวลงกว่า 18.2%YOY ในเดือนตุลาคม ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าที่หดตัวมากกว่าการส่งออก ส่งผลให้ไทยยังคงเกิดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนตุลาคมไทยเกินดุลการค้าเพิ่มที่ราว 2,101 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
Analysis.png

 Analysis.gif

  • อุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก กดดันให้การส่งออกของไทยหดตัวลงต่อเนื่องมาถึงเดือนตุลาคม มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังตลาดพัฒนาแล้วหดตัวลงในเดือนตุลาคม โดยมูลค่าการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปหดตัวลงราว 12%YOY เช่นเดียวกับตลาดสหรัฐฯ ที่หดตัว 1.4%YOY อีกทั้ง การส่งออกไปยังจีนก็ยังคงหดตัวที่ 3.6%YOY จากภาคการผลิตในจีนที่ชะลอลง ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนที่มีทิศทางชะลอตัวต่อเนื่องเป็นปัจจัยหนึ่งที่ได้ส่งผลกระทบต่อไปยังเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญอื่นๆ อย่างญี่ปุ่นและอาเซียน 5 โดยส่งผลให้การส่งออกของไทยไปยังตลาดดังกล่าวหดตัวลง 13.9%YOY และ 18.2%YOY ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การส่งออกไปยังตลาด CLMV ยังสามารถขยายตัวได้ที่ 1%YOY ในเดือนตุลาคม ทั้งนี้ ตลาด CLMV ได้ก้าวเข้ามาเป็นคู่ค้าหลักของไทย โดยมีสัดส่วนต่อการส่งออกทั้งหมดของไทยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 10% ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับตลาดญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป


  • มูลค่าการส่งออกของไทยยังถูกกดดันด้วยราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาน้ำมันที่ตกต่ำ ในขณะที่การส่งออกรถยนต์ขยายตัวได้เพียงเล็กน้อยในเดือนตุลาคม โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญของไทยอย่างข้าว ยางพารา และมันสำปะหลังต่างหดตัวลง 17.6%YOY, 7.6%YOY, และ 11.4%YOY ตามลำดับ ตามทิศทางราคาในตลาดโลก ด้านราคาน้ำมันที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าที่เชื่อมโยงกับน้ำมัน อย่างน้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์และพลาสติกให้หดตัวลงอีก 29.4%YOY และ 26.7%YOY ตามลำดับ อย่างไรก็ดีสินค้าดังกล่าวหดตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับเมื่อเดือนก่อนหน้าหลังราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มมีทิศทางทรงตัวและผลของฐานราคาน้ำมันที่สูงจะเริ่มหมดไปในช่วงปลายปี นอกจากนี้ การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าในเดือนตุลาคมหดตัวรุนแรงที่ 9.9%YOY จากการส่งออกโทรทัศน์และส่วนประกอบที่ลดลงกว่า 17% ในเดือนตุลาคม ส่วนหนึ่งมาจากอุปสงค์ในตลาดญี่ปุ่นชะลอตัว ด้านการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบที่สามารถขยายตัวในระดับสูงและเป็นสินค้าหลักของการส่งออกไทยในช่วงที่ผ่านมากลับขยายตัวได้เพียง 0.2%YOY ในเดือนตุลาคม ลดลงจากเมื่อเดือนกันยายนที่สามารถขยายตัวได้กว่า 20%YOY ถึงแม้ว่าการส่งออกรถยนต์นั่งไปยังตลาดหลักและตลาดรองจะยังขยายตัวได้มากกว่า 90%YOY ก็ตาม แต่การส่งออกรถปิ๊กอัพและรถบรรทุกลดลงกว่า 44%YOY ในเดือนตุลาคม


  • มูลค่าการนำเข้าหดตัวลง 18.2%YOY ในเดือนตุลาคมจากราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำ และการนำเข้าเครื่องจักรกลและส่วนประกอบที่ลดลง มูลค่าการนำเข้าในเดือนตุลาคมยังคงตกต่ำถึงแม้ว่าจะหดตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำส่งผลให้การนำเข้าเชื้อเพลิงลดลงราว 52%YOY ด้านการนำเข้าสินค้าทุนปรับเพิ่มขึ้น 2.5%YOY ทว่ามาจากการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าเครื่องบิน ทั้งนี้ การนำเข้าสินค้าทุนที่ไม่รวมการนำเข้าเครื่องบินกลับลดลง 8.6%YOY จากการนำเข้าเครื่องจักรกลและส่วนประกอบที่ลดลงกว่า 11%YOY ด้านการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบหดตัวราว 21%YOY จากเหล็กและเคมีภัณฑ์ที่ถูกกดดันด้วยราคาในตลาดโลกที่ตกต่ำ โดยการนำเข้าเหล็กลดลงทั้งราคาและปริมาณสะท้อนถึงอุปสงค์ภายในประเทศที่ลดลงจากภาคก่อสร้าง ทั้งนี้ การนำเข้าที่ลดลงมากกว่าการส่งออกส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้าอย่างต่อเนื่องโดยในเดือนตุลาคมไทยเกินดุลการค้าเพิ่มที่ราว 2,101 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
Implication.png

Implication.gif

  • อีไอซีคาดมูลค่าการส่งออกปีนี้จะหดตัวกว่า 5% ในขณะที่ปีหน้ามีแนวโน้มไม่ขยายตัว มูลค่าการส่งออกไทยในปีนี้ยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว โดยในช่วง 10 เดือนแรกมูลค่าการส่งออกหดตัวลง 5.3%YOY ซึ่งปัจจัยกระทบภาคการส่งออกของไทยในปีนี้มีแนวโน้มส่งผลกระทบยาวต่อจนไปถึงปี 2016 โดยเฉพาะการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีนที่จะส่งผลทางตรงและทางอ้อมต่อไปถึงเศรษฐกิจประเทศอื่นๆ ที่มีการพึ่งพาการส่งออกไปจีนเป็นหลักอย่าง อาเซียน 5 และญี่ปุ่น รวมไปถึงเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศสำคัญในตลาดสหภาพยุโรป นอกจากนี้ การส่งออกของไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาวในการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ล้าสมัยและปัญหาการย้ายฐานผลิตของเครื่องใช้ไฟฟ้าออกจากไทยไปยังเวียดนาม อย่างไรก็ดี อีไอซีคาดว่าการส่งออกไทยในปี 2016 มีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากปีนี้ เนื่องจากผลของฐานราคาน้ำมันและการถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษี GSP จากกลุ่มสหภาพยุโรปจะหมดไป อีกทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการส่งออกไปยังตลาด CLMV ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประกอบค่าเงินบาทที่มีทิศทางอ่อนค่าลงในปีหน้าจะช่วยผลักดันการส่งออกของไทยต่อไป โดยการส่งออกในรูปเงินบาทในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ หดตัวลงเพียง 1.5%YOY นอกจากนี้ การที่ไทยเกินดุลการค้ามาอย่างต่อเนื่องในปีนี้จากการนำเข้าที่หดตัวรุนแรง จะช่วยเพิ่มดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยให้แข็งแกร่ง ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศที่จะช่วยป้องกันภาวะเงินทุนไหลออกอย่างรวดเร็วได้



รูปที่ 1: มูลค่าการส่งออกไทยเดือนตุลาคมหดตัวกว่า 8.1%YOY ลดลงมากสุดในปีนี้

pic01_flash.jpg
 

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์



รูปที่ 2: อุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก กดดันให้การส่งออกของไทยหดตัวลงต่อเนื่องมายังเดือนตุลาคม
 

pic02_flash.jpg


ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์



รูปที่ 3: มูลค่าการนำเข้าหดตัวลง 18.2%YOY ในเดือนตุลาคมจากราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำ และการนำเข้าเครื่องจักรกลและส่วนประกอบที่ลดลง
 
pic03_flash.jpg


ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ