SHARE
IN FOCUS
05 พฤศจิกายน 2015

เจาะผลกระทบและตั้งรับภาวะท่อเหล็กนำเข้าบุกตลาด

ผลกระทบจากภาวะผลผลิตเหล็กล้นตลาดโลกโดยเฉพาะจากการผลิตเกินความต้องการใช้ในจีนลุกลามถึงผลิตภัณฑ์ท่อเหล็กในไทย โดยปริมาณการนำเข้าท่อเหล็กจากจีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้ผลิตท่อเหล็กในไทยได้รับความเดือดร้อนจากราคาและส่วนแบ่งการตลาดที่มีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้เกิดการเรียกร้องให้มีการออกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือ Anti-dumping ท่อเหล็กเชื่อมตะเข็บไร้สนิมซึ่งเป็นท่อเหล็กชนิดที่มีปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากที่สุด ทั้งนี้ อีไอซีมองว่าการแข่งขันกับสินค้าจากจีนทำได้ยากและมาตรการ AD จะสามารถช่วยเหลือผู้ผลิตไทยได้ในระยะสั้นเท่านั้น นอกจากนี้ คาดว่าปริมาณการนำเข้าท่อเหล็กชนิดดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอีกก่อนมีการใช้มาตรการ AD เนื่องจากผู้ค้าอาจจะสะสมสินค้าคงคลังราคาถูกไว้ก่อนที่มาตรการ AD จะถูกบังคับใช้ ในระยะสั้น ผู้ผลิตต้องพยายามรักษาฐานลูกค้าเดิมโดยยกระดับคุณภาพการให้บริการลูกค้าและสร้างความน่าเชื่อถือ ส่วนในระยะยาว ด้วยความที่จีนมีความได้เปรียบด้าน Economy of Scale ดังนั้น อีไอซีจึงแนะให้ผู้ผลิตเพิ่มความสามารถในการแข่งขันเพื่อก้าวข้ามการแข่งขันทางด้านราคา ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต พร้อมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น ควบคู่กับการทำการตลาด สร้าง Branding ให้กับผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผู้บริโภคจดจำและเป็นที่รู้จัก

ผู้เขียน: กานต์ชนก บุญสุภาพร

 

ThinkstockPhotos-466487435-s.jpg


 

 

Highlight

 

  • ผลกระทบจากภาวะผลผลิตเหล็กล้นตลาดโลกโดยเฉพาะจากการผลิตเกินความต้องการใช้ในจีนลุกลามถึงผลิตภัณฑ์ท่อเหล็กในไทย โดยปริมาณการนำเข้าท่อเหล็กจากจีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้ผลิตท่อเหล็กในไทยได้รับความเดือดร้อนจากราคาและส่วนแบ่งการตลาดที่มีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้เกิดการเรียกร้องให้มีการออกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือ Anti-dumping ท่อเหล็กเชื่อมตะเข็บไร้สนิมซึ่งเป็นท่อเหล็กชนิดที่มีปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากที่สุด ทั้งนี้ อีไอซีมองว่าการแข่งขันกับสินค้าจากจีนทำได้ยากและมาตรการ AD จะสามารถช่วยเหลือผู้ผลิตไทยได้ในระยะสั้นเท่านั้น นอกจากนี้ คาดว่าปริมาณการนำเข้าท่อเหล็กชนิดดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอีกก่อนมีการใช้มาตรการ AD เนื่องจากผู้ค้าอาจจะสะสมสินค้าคงคลังราคาถูกไว้ก่อนที่มาตรการ AD จะถูกบังคับใช้


  • ในระยะสั้น ผู้ผลิตต้องพยายามรักษาฐานลูกค้าเดิมโดยยกระดับคุณภาพการให้บริการลูกค้าและสร้างความน่าเชื่อถือ ส่วนในระยะยาว ด้วยความที่จีนมีความได้เปรียบด้าน Economy of Scale ดังนั้น อีไอซีจึงแนะให้ผู้ผลิตเพิ่มความสามารถในการแข่งขันเพื่อก้าวข้ามการแข่งขันทางด้านราคา ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต พร้อมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น ควบคู่กับการทำการตลาด สร้าง Branding ให้กับผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผู้บริโภคจดจำและเป็นที่รู้จัก

 

ปริมาณการนำเข้าท่อเหล็กที่เพิ่มขึ้นมาจากการนำเข้าท่อเหล็กจากจีนที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ซึ่งเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์เหล็กที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาจากภาวะเหล็กล้นตลาดในจีน ปริมาณการนำเข้าท่อเหล็กของไทยในปี 2014 เติบโต 22% จากปีก่อนหน้า โดยเฉพาะการนำเข้าท่อเหล็กจากจีนที่เพิ่มขึ้นถึง 66% ในขณะที่การนำเข้าท่อเหล็กจากประเทศอื่นกลับลดลง 8% ทำให้สัดส่วนการนำเข้าท่อเหล็กจากจีนในปี 2014 มีสัดส่วนถึง 55% ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด ขณะที่ปีก่อนหน้ามีสัดส่วนเพียง 40% เท่านั้น (รูปที่ 1) สะท้อนให้เห็นว่าผู้ผลิตท่อเหล็กในไทยกำลังเผชิญกับการทะลักเข้าของสินค้าจีนอย่างหนัก ล่าสุดการนำเข้าท่อเหล็กจากจีนยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดย 6 เดือนแรกของปี 2015 การนำเข้าท่อเหล็กเพิ่มขึ้นกว่า 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ สาเหตุหลักที่ปริมาณการนำเข้าท่อเหล็กจากจีนเพิ่มมากขึ้นมาจากอุปทานที่ล้นเกินในจีน โดยในปี 2014 จีนสามารถผลิตท่อเหล็กได้ถึง 89 ล้านตัน ประกอบด้วย ท่อเหล็กเชื่อมตะเข็บ 58 ล้านตัน และท่อเหล็กไร้ตะเข็บ 31 ล้านตัน ในขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศชะลอตัวลง จึงผลักดันให้ปริมาณการส่งออกท่อเหล็กเชื่อมตะเข็บและท่อเหล็กไร้ตะเข็บในปี 2014 เพิ่มขึ้น 7% และ 4% ตามลำดับจากปีก่อนหน้า (รูปที่ 2) อีกหนึ่งสาเหตุคือ สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) ยังไม่มีการออกมาตรฐาน มอก. ท่อเหล็กแบบบังคับใช้ แต่มีเพียงมาตรฐาน มอก. ทั่วไปเท่านั้น จึงเป็นเหตุให้ผู้นำเข้าสามารถนำเข้าท่อเหล็กได้อย่างเสรี ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้ผลิตได้รับผลกระทบแล้ว ยังอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในด้านความปลอดภัยอีกด้วย


ชนิดของท่อเหล็กที่มีการนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นมากที่สุดคือท่อเหล็กเชื่อมตะเข็บ โดยในปี 2014 เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปีก่อนหน้า โดยส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ท่อเหล็กเชื่อมตะเข็บไร้สนิมที่ใช้ในอุตสาหกรรมหนักทั่วไป งานตกแต่ง และอุตสาหกรรมการผลิต ท่อเหล็กเชื่อมตะเข็บถือเป็นสินค้าที่เข้ามาแข่งขันกับผู้ผลิตของไทยโดยตรง เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้ผลิตในไทยสามารถผลิตได้ ตรงกันข้ามกับท่อเหล็กไร้ตะเข็บที่ยังไม่มีการผลิตโดยผู้ผลิตในไทย มีเพียงแต่การนำเข้ามาใช้เท่านั้น ดังนั้น ผู้ที่จะได้รับผลกระทบที่รุนแรง คือ ผู้ผลิตท่อเหล็กเชื่อมตะเข็บไร้สนิม เนื่องจากมีปริมาณการนำเข้าท่อเหล็กชนิดนี้จากจีนเพิ่มขึ้นมากที่สุด จนทำให้ทางผู้ผลิตมีการเรียกร้องให้ภาครัฐออกมาตรการ AD และ Safeguard


การแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากจีนทำได้ยากเนื่องจากราคาวัตถุดิบในจีนต่ำกว่าและยังลดลงอย่างต่อเนื่องในอัตราที่เร็วกว่า ในปี 2015 ราคาของเหล็กแผ่นรีดร้อนในจีนซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตท่อเหล็กเชื่อมตะเข็บมีราคาต่ำกว่าไทยราว 32% และที่ผ่านมาราคายังมีแนวโน้มลดลงในอัตราที่มากกว่า (รูปที่ 3) ทั้งนี้ คาดว่าภาวะดังกล่าวจะยังเป็นปัญหาต่อผู้ผลิตในไทยไปจนกว่าสภาวะการผลิตเหล็กเกินความต้องการในตลาดโลกจะบรรเทาลง นอกจากนี้ ผู้ผลิตในไทยยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเหล็กแผ่นรีดร้อนราคาถูกในจีนได้ เนื่องจากมีการประกาศใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) เหล็กแผ่นรีดร้อนไปก่อนหน้านี้ ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตท่อเหล็กในจีนเหนือกว่าผู้ผลิตในไทยและนำไปสู่การนำเข้าท่อเหล็กจากจีนมากขึ้น นอกจากนี้ ควรจับตามองราคาท่อเหล็กเชื่อมตะเข็บไร้สนิมของจีนที่มีแนวโน้มลดลงในอัตราที่มากกว่าราคาในไทย ทำให้ความเสี่ยงในการใช้มาตรการตอบโต้จะได้ผลเพียงระยะสั้นมีสูงขึ้น เช่น ราคาของท่อเหล็กเชื่อมตะเข็บไร้สนิมทรงกลมจากจีนมีแนวโน้มลดลงมาตลอดและเหลือเพียง 1,364 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในไตรมาส 3 ปี 2015 ซึ่งลดลงถึง 24% จากไตรมาสแรกของปีก่อนหน้า ในขณะที่ราคาของไทยอยู่ที่ประมาณ 2,905 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน และลดลงเพียง 10% จากไตรมาสแรกของปีก่อนหน้า นอกจากนี้ ราคาเฉลี่ยช่วงครึ่งแรกของปี 2015 สินค้าของไทยยังสูงกว่าจีนถึง 89% (รูปที่ 4)


คาดว่าการนำเข้าท่อเหล็กเชื่อมตะเข็บไร้สนิมจะเพิ่มขึ้นอีก ก่อนมีการใช้มาตรการ AD เนื่องจากผู้ค้ามีแนวโน้มจะสะสมสินค้าคงคลังราคาถูก ผลจากปริมาณการนำเข้าท่อเหล็กที่เพิ่มขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมภายในประเทศได้รับความเสียหายจากการสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดและราคาที่ลดลง ส่งผลให้มีการยื่นคำขอให้กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ออกมาตรการ AD จนในวันที่ 17 กันยายน ที่ผ่านมาได้มีการประกาศเปิดไต่สวนการทุ่มตลาดสินค้าเหล็กหลอดและท่อทำด้วยเหล็กกล้าไร้สนิม ทั้งรีดร้อนและรีดเย็นที่มีภาคตัดขวางเป็นวงกลม และไม่เป็นวงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางรอบนอกไม่เกิน 508 ม.ม. ที่มีแหล่งผลิตมาจากเกาหลี จีน ไต้หวัน และเวียดนาม โดยเห็นได้ว่าปริมาณการนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากจีนในช่วงครึ่งแรกของปี 2015 เพิ่มขึ้นถึง 177% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า (รูปที่ 5) ทั้งนี้ สินค้าที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากที่สุดคือท่อเหล็กเชื่อมตะเข็บทรงเหลี่ยมและทรงกลม ซึ่งมักนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงใช้ในงานแลกเปลี่ยนความร้อน และงานเฟอร์นิเจอร์ ทั้งนี้ คาดว่าก่อนที่จะมีการประกาศใช้มาตรการ AD การนำเข้าท่อเหล็กจะเพิ่มขึ้นอีกเพื่อเป็นการสะสมสินค้าคงคลังราคาถูก ก่อนที่มาตรการจะทำให้ปริมาณการนำเข้าลดลงโดยเฉพาะหากมาตรการ AD ถูกบังคับใช้กับทุกประเทศส่งออกในข้างต้น ซึ่งมีแนวโน้มแตกต่างจากกรณีของสหรัฐฯ ที่ประสบความสำเร็จในการลดปริมาณการนำเข้าท่อเหล็กจากจีน จากการใช้มาตรการ AD และ CVD (รูปที่ 6) แต่กลับมีการนำเข้าจากเกาหลีเพิ่มขึ้นมากแทน


นอกจากนี้ คาดว่ามาตรการ AD จะส่งผลดีต่อผู้ผลิตเพียงในระยะสั้น และจะส่งผลให้ผู้ใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องเสียโอกาสในการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีราคาถูกกว่าจากต่างประเทศ อีไอซีคาดว่า ในระยะสั้นผู้ผลิตจะได้รับผลดีในแง่ของสินค้าที่เข้ามาแข่งขันมีปริมาณที่ลดลง แต่การแก้ไขปัญหาในระยะยาวยังคงขึ้นอยู่กับภาวะผลผลิตเกินความต้องการในตลาดโลกเป็นหลัก ซึ่งหากภาวะดังกล่าวยังไม่ดีขึ้น ราคาสินค้าของจีนก็ยังคงมีแนวโน้มที่จะลดลงในอัตราที่มากกว่าและเร็วกว่า และสินค้าของไทยจะต้องเผชิญการแข่งขันด้านราคาอยู่ดี นอกจากนี้ สำหรับผู้ผลิตสินค้าท่อเหล็กที่อยู่ในพิกัดที่ใกล้เคียงกับพิกัดที่ได้รับการคุ้มครองด้วยมาตรการ AD ยังอาจจะได้รับผลกระทบเชิงลบถ้าสินค้านั้นสามารถทดแทนสินค้าที่ถูกคุ้มครองได้ จะทำให้ผู้ใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องหันมานำเข้าสินค้าดังกล่าวแทน เนื่องจากปัจจัยทางด้านราคา ส่วนผู้ค้าท่อเหล็กคาดว่าจะได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากเป็นผู้ซื้อมาขายไป ทำให้กำไรไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก โดยอาจจะเสียประโยชน์ในแง่ของการเสียโอกาสซื้อสินค้าราคาถูกกว่าจากจีนซึ่งช่วยให้ต้นทุนการขายต่ำกว่าและได้กำไรสูงกว่า สำหรับผู้ใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องจะได้รับผลกระทบทางลบเพราะเสียโอกาสในการใช้ท่อเหล็กนำเข้าจากจีนที่มีราคาถูกกว่าและต้องซื้อเหล็กในราคาที่สูงขึ้นเมื่อมีการใช้มาตรการ AD

 

 

Implication.png

Implication.gif

  • ในระยะสั้นผู้ผลิตควรพยายามรักษาฐานลูกค้าเดิมโดยยกระดับคุณภาพการให้บริการลูกค้าและสร้างความน่าเชื่อถือ การออกมาตรการ AD แต่ละครั้งมักต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจึงใช้เวลานาน ดังนั้นช่วงเวลาระหว่างที่ยังไม่มีการบังคับใช้มาตรการ AD ผู้ผลิตต้องรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ โดยยกระดับการให้บริการลูกค้าและสร้างความน่าเชื่อถือ เช่น การส่งมอบสินค้าตามเวลาที่กำหนดและสินค้ามีคุณภาพตรงตามความต้องการของลูกค้า รวมทั้งออกใบรับประกันคุณภาพสินค้า เนื่องจากแม้ในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ หากผู้ผลิตยังสามารถสร้างความมั่นใจและความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าได้ ผู้ผลิตจะได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า ทำให้รักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ได้


  • ในระยะยาวอีไอซีแนะผู้ผลิตควรหาทางเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น ควบคู่กับการทำการตลาด สร้าง Branding ให้กับสินค้า ผู้ผลิตควรหาทางหลีกเลี่ยงการแข่งขันทางด้านราคา เนื่องจากการแข่งขันกับจีนที่มีความได้เปรียบด้าน Economy of Scale นั้นทำได้ยาก ผู้ผลิตจึงควรเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต เช่น การแลกเปลี่ยนความรู้และเทคนิคกับผู้ผลิตทั้งในและต่างประเทศ การร่วมมือกับสถาบันวิจัยเพื่อคิดค้นวัตกรรมใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ นอกจากนี้ ยังต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น การพัฒนาท่อเหล็กเชื่อมตะเข็บไร้สนิมให้มีคุณภาพใกล้เคียงกับท่อเหล็กไร้ตะเข็บจนสามารถทดแทนกันได้ การผลิตท่อเหล็กให้มีรูปทรงที่หลากหลายเพื่อขยายกลุ่มลูกค้าสู่อุตสาหกรรมอื่นมากขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ผลิตควรทำการตลาด สร้าง Branding ให้กับผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผู้บริโภคจดจำและเป็นที่รู้จัก

 

รูปที่ 1: ปริมาณการนำเข้าท่อเหล็กของไทย(2009-2014) และปริมาณการนำเข้ารายประเภทท่อเหล็กจากจีน(2009-1H2015)
ปริมาณการนำเข้าท่อเหล็กจากจีนในปี 2014 เพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะท่อเหล็กเชื่อมตะเข็บที่เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปี 2013
หน่วย: พันตัน

pic1.jpg

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Trademap



รูปที่ 2: ปริมาณการผลิตและการส่งออกท่อเหล็กเชื่อมตะเข็บและไร้ตะเข็บของจีน (2009-2014)
ในจีนอัตราการเติบโตของปริมาณการผลิตและการส่งออกท่อเหล็กเชื่อมตะเข็บสูงกว่าท่อเหล็กไร้ตะเข็บ
หน่วย: ล้านตัน

pic2.jpg

 
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ CEIC และ Trademap



รูปที่ 3: ราคาเหล็ก HRC ในไทยและในจีน (FOB) (2011-2015)
ราคาวัตถุดิบที่ใช้ผลิตท่อเหล็กเชื่อมตะเข็บในจีนต่ำกว่าไทย อีกทั้งราคายังลดลงในอัตราที่เร็วกว่า
หน่วย: ดอลลาร์สหรัฐฯ/ ตัน

pic3.jpg

 
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Bloomberg และ ISIT


 

รูปที่ 4: ความแตกต่างระหว่างราคาท่อเหล็กไร้สนิมเชื่อมตะเข็บทรงกลมของจีน(CIF)และไทย (2014-3Q2015)

ราคาท่อเหล็กจากจีนลดลงมากกว่าราคาของไทย ราคาสินค้าของไทยเฉลี่ยครึ่งแรกของปี2015ยังคงสูงกว่าจีน
หน่วย: ดอลลาร์สหรัฐฯ/ ตัน หน่วย: ดอลลาร์สหรัฐฯ/ ตัน
 pic4_1.jpg  pic4_2.jpg
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Trademap
หมายเหตุ: ราคาอ้างอิงจากการประมาณการราคาท่อเหล็กไร้สนิมเชื่อมตะเข็บทรงกลม

 
                     
รูปที่ 5: ปริมาณการนำเข้าท่อเหล็กไร้สนิมเชื่อมตะเข็บในไทยจากจีนจำแนกตามประเภทผลิตภัณฑ์ (2009-1H2015)
ปริมาณการนำเข้าท่อเหล็กไร้สนิมเชื่อมตะเข็บโดยเฉพาะท่อทรงเหลี่ยมเพิ่มขึ้นอย่างมากติดต่อกัน 2 ปี เริ่มตั้งแต่ปี2014
หน่วย: พันตัน



pic5.jpg



ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Trademap



รูปที่ 6: ปริมาณการนำเข้าท่อเหล็กเชื่อมตะเข็บที่มีภาคตัดขวางเป็นวงกลม (CWP) ของสหรัฐฯ จากจีน (2004-2014)
ปริมาณการนำเข้า CWP ลดลงอย่างชัดเจนหลังจากมีการบังคับใช้มาตรการ AD และ CVD
หน่วย: พันตัน



pic6.jpg
 
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Trademap


ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ