SHARE
SCB EIC ARTICLE
28 สิงหาคม 2015

จับตาเงินหยวนอ่อนค่าและการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

ท่ามกลางหลากหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดแรงขายในตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงนี้ มีอยู่ 2 เหตุการณ์ที่สำคัญและยังต้องติดตามต่อไป คือทิศทางค่าเงินหยวน และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ

ผู้เขียน: ปิยากร ชลวร

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 26 สิงหาคม 2558

 

reduce_file_ThinkstockPhotos-482437332.jpg

 

 

 

ท่ามกลางหลากหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดแรงขายในตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงนี้ มีอยู่ 2 เหตุการณ์ที่สำคัญและยังต้องติดตามต่อไป คือทิศทางค่าเงินหยวน และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีนได้ปรับเงินหยวนให้อ่อนค่าลงและเปลี่ยนวิธีกำหนดอัตราให้สอดคล้องกับตลาดมากขึ้น นับจากวันที่ประกาศ เงินหยวนได้อ่อนค่าลงมาแล้วราว 4% คำถามน่าสนใจคือ เงินหยวนจะอ่อนค่าลงไปแค่ไหน ซึ่งคำตอบยังมีความขัดแย้งกันอยู่ ระหว่างการช่วยภาคส่งออก การดูแลเงินทุนไหลออก และการส่งเสริมให้เงินหยวนเป็นเงินสกุลหลักของโลก

ในรอบปีที่ผ่านมา ค่าเงินของหลายประเทศในเอเชียได้อ่อนค่าลงไปแล้วกว่า 10% แต่ค่าเงินหยวนซึ่งผูกติดกับดอลลาร์สหรัฐฯ มาระยะหนึ่งกลับแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับคู่ค้า ถ้าจะช่วยภาคส่งออกของจีนได้จริง เงินหยวนยังมีช่องว่างให้อ่อนค่าลงอีกมากกว่าจะถึงระดับใกล้เคียงกับค่าเงินในภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม เงินทุนไหลออกเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ทิศทางเงินหยวนยังไม่ชัดเจน ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา มีเงินทุนไหลออกจากจีนอย่างต่อเนื่องราว 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นราว 4% ของ GDP ทั้งๆ ที่จีนไม่ได้เปิดช่องให้เงินทุนเคลื่อนย้ายได้เสรี เงินทุนไหลออกที่มากเช่นนี้มาจากหลายเหตุผล เช่นภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและฟองสบู่ในหุ้น A-share ซึ่งบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน หรือความแออัดและมลภาวะทางอากาศในเมืองซึ่งทำให้ประชาชนที่มีความมั่งคั่งพยายามย้ายเงินไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ วิธีการที่ธนาคารกลางจีนพยายามหยุดเงินทุนไหลออกคือสื่อสารให้ตลาดเงินมั่นใจว่าเงินหยวนจะไม่อ่อนค่าลงไปอีก อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อสงสัยว่า ถ้าเงินทุนยังไม่หยุดไหลออก ธนาคารกลางจีนอาจต้องใช้วิธีตรงกันข้าม คือทำให้เงินหยวนอ่อนลงไปมากๆ อย่างรวดเร็วจนกระทั่งถึงระดับที่ไม่คุ้มค่าที่จะแลกเงินหยวนเป็นเงินสกุลอื่นหรือไม่ แต่วิธีนี้ย่อมไม่เป็นผลดีกับเป้าหมายระยะยาวของจีนที่ต้องการให้เงินหยวนมีบทบาทมากขึ้นในเวทีโลก เพราะถ้าเงินหยวนไม่มีเสถียรภาพ ธนาคารกลางของหลายประเทศคงไม่ต้องการเข้ามาถือเงินหยวนเป็นทุนสำรอง

เงินหยวนที่อ่อนค่าลงจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคอย่างมาก เพราะเศรษฐกิจของหลายประเทศมีสัดส่วนการส่งออกไปจีนสูง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งในกลุ่มสินค้าเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรมจะฟื้นตัวช้าลงกว่าที่คาดไว้เดิม เพราะในมุมของผู้ซื้อชาวจีน สินค้าโภคภัณฑ์ที่ต้องนำเข้ามีราคาแพงขึ้น ประเทศที่ถูกกระทบมากที่สุดคือ ผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์เป็นหลัก เช่น ออสเตรเลียและมาเลเซีย ส่วนไทยจะได้ผลกระทบเช่นกันจากสินค้ากลุ่มยางพารา และในระยะยาว ผู้ผลิตจีนน่าจะค่อยๆ ปรับโครงสร้างและหันมาผลิตสินค้าขั้นกลางด้วยตนเองมากขึ้น ดังนั้นสินค้าขั้นกลางที่ไทยส่งออกไปจีนเช่นพลาสติกจึงได้รับผลกระทบเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เงินหยวนที่อ่อนค่า ไม่ใช่ปัจจัยลบเสียทั้งหมด เพราะไทยเป็นผู้ขาดดุลการค้ากับจีนมาโดยตลอด ด้วยมูลค่าสินค้าที่ไทยนำเข้าจากจีนสูงกว่ามูลค่าสินค้าส่งออกเดือนละกว่า 4 หมื่นล้านบาท การที่เงินหยวนอ่อนค่าลงจึงมีผลสุทธิเป็นบวกกับไทยด้วยซ้ำ ยิ่งขณะนี้ ภาคเอกชนไทยกำลังมีปัญหาเรื่องความสามารถในการแข่งขันในภาคการผลิต กิจการขนาดใหญ่ที่มีสภาพคล่องส่วนเกินจึงควรใช้โอกาสนี้เพิ่มศักยภาพให้กับการผลิต นำเข้าเครื่องจักรอุตสาหกรรม สร้างฐานกระจายสินค้าส่งต่อไปยังประเทศที่มีความต้องการสินค้าจากไทยอีกมาก เช่นกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงและเอเชียใต้ และยิ่งกว่านั้น ทุนจีนกำลังก้าวขึ้นมาเป็นผู้ลงทุนสำคัญของโลก เงินบาทที่อ่อนค่าลงมากน่าจะทำให้เงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศเข้ามาเพิ่มขึ้น และสัดส่วน FDI จากจีนน่าจะสูงขึ้นตามลำดับ

สำหรับอีกเหตุการณ์หนึ่งคือ การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 4 และจะทยอยปรับขึ้นอีกหลายครั้งในปี 2016 การขยับตัวของเฟดครั้งนี้เป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นจากศูนย์เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 8 ปี จึงเป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ผลกระทบต่อตลาดเงินและตลาดทุน โดยเฉพาะกระแสเงินทุนระหว่างประเทศจะเป็นเช่นไร

สิ่งที่พอจะคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดขึ้นคือการที่เฟดกำลังจะขึ้นดอกเบี้ยพร้อมๆ กับความเสี่ยงที่เงินหยวนจะอ่อนค่าลงอีก ในขณะที่เศรษฐกิจของเอเชียยังอ่อนแอ ย่อมเป็นการกระตุ้นให้เงินทุนไหลออกจากภูมิภาคให้มากขึ้นอีก ซึ่งจะกดดันให้ค่าเงินหลายสกุลในภูมิภาค รวมทั้งเงินบาทของไทยมีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ฐานะทางการเงินระหว่างประเทศของไทยอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง แม้สัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อ GDP ที่ 35% จะส่งผลกระทบกับภาคธุรกิจที่มีเงินกู้เป็นสกุลต่างประเทศได้ไม่น้อย แต่ทุนสำรองขณะนี้ยังอยู่ในระดับสูงกว่าวิกฤติครั้งก่อนหลายเท่า ไทยจึงน่าจะรับมือกับกระแสเงินทุนไหลออกได้ดีพอสมควร แต่สำหรับบางประเทศในภูมิภาค เช่น มาเลเซียซึ่งทุนสำรองกำลังลดลงอย่างรวดเร็ว เริ่มมีการเตือนว่าอาจเกิดความเสี่ยงที่ค่าเงินริงกิตจะถูกโจมตีและกลายเป็นความเสี่ยงที่ลามไปทั้งภูมิภาค ดังนั้น เสถียรภาพการเงินระหว่างประเทศจึงเป็นปัจจัยเสี่ยงอีกด้านที่ประมาทไม่ได้

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ