Outlook ไตรมาส 4/2013
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีศักยภาพจะเติบโตได้ 3.4% ในปี 2013 ต่ำกว่าประมาณการเดิม เนื่องจาก 1) การส่งออกในระยะที่ผ่านมาเติบโตได้น้อยกว่าที่คาด 2) การบริโภคและการลงทุนชะลอตัวลงมากกว่าที่คาด 3) การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐต่ำกว่าเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2014 จะปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยคาดว่าจะเติบโตได้ 4.5% ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคที่จะเริ่มฟื้นตัวและการลงทุนที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น การลงทุนภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทที่จะเริ่มเบิกจ่ายได้ และการส่งออกที่จะฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย EIC คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 2.50% ไปจนถึงปี 2014 เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งยังสามารถทำได้เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าเงินบาทในระยะสั้นคือ ความคาดหวังของตลาดต่อการตัดสินใจปรับลดมาตรการ QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินบาทผันผวนในระยะสั้น โดย EIC มองว่าค่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงที่เหลือของปี 2013 และอ่อนค่าลงเล็กน้อยอยู่ระหว่าง 31-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2014
![]() |
|
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีศักยภาพจะเติบโตได้ 3.4% ในปี 2013 ต่ำกว่าประมาณการเดิม เนื่องจาก 1) การส่งออกในระยะที่ผ่านมาเติบโตได้น้อยกว่าที่คาด 2) การบริโภคและการลงทุนชะลอตัวลงมากกว่าที่คาด 3) การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐต่ำกว่าเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2014 จะปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยคาดว่าจะเติบโตได้ 4.5% ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคที่จะเริ่มฟื้นตัวและการลงทุนที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น การลงทุนภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทที่จะเริ่มเบิกจ่ายได้ และการส่งออกที่จะฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย EIC คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 2.50% ไปจนถึงปี 2014 เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งยังสามารถทำได้เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าเงินบาทในระยะสั้นคือ ความคาดหวังของตลาดต่อการตัดสินใจปรับลดมาตรการ QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินบาทผันผวนในระยะสั้น โดย EIC มองว่าค่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงที่เหลือของปี 2013 และอ่อนค่าลงเล็กน้อยอยู่ระหว่าง 31-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2014 ราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 4 คาดว่าจะปรับระดับลดลงเล็กน้อย เทียบกับไตรมาส 3 ที่ราคาทะยานสูงขึ้นในระยะสั้น เนื่องจากปัญหาการเมืองในซีเรีย แต่อุปสงค์น้ำมันในช่วงไตรมาส 4 ที่เป็นฤดูหนาว จะเป็นปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้การลดลงของราคาน้ำมันมีค่อนข้างจำกัด ส่วนราคาน้ำมันดิบในปี 2014 ค่อนข้างทรงตัวเช่นกัน แม้ว่าความต้องการน้ำมันจะมีแนวโน้มสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่อุปทานน้ำมันยังคงอยู่ในระดับสูงเพียงพอกับความต้องการ โดยเฉพาะอุปทานน้ำมันจากกลุ่ม non-OPEC อย่างสหรัฐฯ ที่จะมีการผลิต unconventional oil มากขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจของจีนที่ยังทรงตัว จะเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันอาจทะยานสูงขึ้นจากเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศผู้ผลิตน้ำมัน แม้มาตรการคว่ำบาตรในอิหร่านจากชาติตะวันตกอาจเริ่มผ่อนคลายในไม่ช้า แต่ยังคงต้องจับตาความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitical risk) ที่อาจเกิดขึ้นกับชาติอื่นๆ ในตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ
เพียงแค่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งสัญญาณเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2013 ว่าอาจจะลดขนาดมาตรการ QE ในช่วงปลายปี 2013 ต้นทุนการกู้ยืมผ่านตลาดพันธบัตรของทั้งภาครัฐและเอกชนไทยในช่วงไตรมาส 2 และ 3 กลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ว่าสุดท้ายแล้ว Fed คงจะเริ่มลดขนาดมาตรการ QE ได้ช้ากว่าที่สื่อสารไว้เดิม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเครื่องชี้วัดที่ดีของผลกระทบที่ประเทศไทยต้องพร้อมเผชิญเมื่อ Fed ปรับลดขนาดมาตรการ QE ลงจริงๆ ในปี 2014 ดังนั้น EIC มองว่าธุรกิจไทยควรเตรียมตัวรับต้นทุนการกู้ยืมที่แพงขึ้นนับตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นไป โดยบริษัทที่มีแผนในการระดมเงินผ่านตลาดพันธบัตรควรติดตามแนวโน้มการปรับเปลี่ยนมาตรการ QE อย่างใกล้ชิด เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะต้องระดมเงินในช่วงที่ yield พุ่งสูงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็นชั่วคราวเพราะตลาดการเงินมีความผันผวน ในส่วนของบริษัทที่พึ่งพาการกู้ยืมจากสถาบันการเงินเป็นหลัก ควรวางแผนการกู้ยืมให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นกัน เพราะมีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น ทั้งนี้ ไม่ว่าธุรกิจจะเลือกระดมทุนด้วยวิธีใด ก็ควรเพิ่มความระมัดระวังในการก่อหนี้ที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะนอกจากสภาพคล่องส่วนเกินของเงินดอลลาร์ฯ จะลดลงแล้ว ความผันผวนของอัตราแลกแปลี่ยนจะทำให้การจัดการภาระหนี้สินที่เป็นเงินดอลลาร์ฯ ทำได้ยาก
การปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยเพิ่มขั้นอัตราในการคำนวณเงินได้สุทธิจาก 5 ขั้น เป็น 7 ขั้น และลดอัตราภาษีเงินได้ขั้นสูงสุดจาก 37% เป็น 35% นั้น ได้รับการจับตามองว่าจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการกระตุ้นการบริโภคของภาคครัวเรือน โดย EIC ประเมินว่า โดยลำพังแล้ว ผลกระทบต่อการบริโภคที่จะเกิดจากการปรับลดภาษีมีไม่มากนัก เนื่องจากภาระภาษีที่ลดลงในแต่ละปีคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 0.4% ของการบริโภคภาคเอกชนเท่านั้น แต่เงื่อนเวลาที่การปรับเปลี่ยนภาษีนี้น่าจะมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายในช่วงปลายปี 2013 หรือ ต้นปี 2014 โดยจะมีผลบังคับใช้ย้อนหลังครอบคลุมเงินได้ในปี 2013 ซึ่งจะส่งผลให้ผู้เสียภาษีได้รับการคืนภาษีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2014 ทั้งนี้ EIC มองว่าการคืนภาษีที่เพิ่มขึ้นราว 4,000 บาท ถึงกว่า 200,000 บาทต่อคน ตามระดับรายได้นี้ จะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้เสียภาษีประมาณ 2.8 ล้านรายอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งจะเป็นโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญในปี 2014 |