SHARE
SCB EIC ARTICLE
06 สิงหาคม 2015

Energy Storage และอนาคตอุตสาหกรรมไฟฟ้าในอาเซียน

เทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) นับเป็นหนึ่งองค์ประกอบสำคัญในธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่มีการพูดถึงมาอย่างยาวนาน แต่ยังไม่ค่อยมีการใช้อย่างแพร่หลายด้วยข้อจำกัดหลายๆ ด้าน อาทิ ราคาที่แพง (30 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ขึ้นไป) อายุการใช้งานที่สั้น (ประมาณ 10 ปี) รวมถึงต้องมีการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เทคโนโลยี Energy Storage ที่เป็นที่คุ้นเคยกันดีคือ แบตเตอรี่ โดยวิธีการทำงาน ของ Energy Storage คือการนำเอาพลังงานส่วนเกินมากักตุนไว้เพื่อนำออกมาใช้ในยามที่ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้

ผู้เขียน: EIC | Economic Intelligence Center
เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ Post Today ฉบับวันที่ 6 สิงหาคม 2015


452492171.jpg

 

เทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) นับเป็นหนึ่งองค์ประกอบสำคัญในธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่มีการพูดถึงมาอย่างยาวนาน แต่ยังไม่ค่อยมีการใช้อย่างแพร่หลายด้วยข้อจำกัดหลายๆ ด้าน อาทิ ราคาที่แพง (30 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ขึ้นไป) อายุการใช้งานที่สั้น (ประมาณ 10 ปี) รวมถึงต้องมีการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เทคโนโลยี Energy Storage ที่เป็นที่คุ้นเคยกันดีคือ แบตเตอรี่ โดยวิธีการทำงาน ของ Energy Storage คือการนำเอาพลังงานส่วนเกินมากักตุนไว้เพื่อนำออกมาใช้ในยามที่ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้

 

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของตลาด Energy Storage ได้ปรับตัวดีขึ้นมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาและเป็นแนวโน้มที่น่าจับตามอง โดยบริษัทวิจัยตลาดหลายบริษัท อาทิ Navigant Research คาดการณ์ว่าในช่วง 10 ปีข้างหน้า ตลาดนี้จะเติบโตเฉลี่ยราวปีละ 40% โดยปัจจัยที่จะขับเคลื่อนการเติบโตมีอยู่ 3 ประการหลักได้แก่ 1) นโยบายภาครัฐ เช่นในรัฐแคลิฟอร์เนียที่บังคับให้ผู้ผลิตไฟฟ้าลงทุนในเทคโนโลยี Energy Storage หรือในอาเซียนเองก็มีสิงคโปร์ที่เพิ่งจัดตั้งกองทุน Energy Storage ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา 2) การปรับปรุงข้อจำกัดของเทคโนโลยี โดยเฉพาะในด้านการทำราคาให้ต่ำลง โดยข้อมูลจากกระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ (DOE) ระบุว่าในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ราคาแบตเตอรี่ได้ลดลงราว 20% ต่อปี อีกทั้ง Bloomberg ก็ได้คาดการณ์ว่าในช่วง 5 ปีข้างหน้าราคาจะมีแนวโน้มลดลงอีกราว 30% ต่อปี และ 3) แนวโน้มการขยายตัวของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยคาดการณ์ว่าการลงทุนใหม่ในโรงไฟฟ้าดังกล่าวทั่วโลกจะเติบโตเฉลี่ยราวปีละ 10% ทั้งนี้จะต้องมีการลงทุนในเทคโนโลยี Energy Storage ควบคู่เพื่อเพิ่มเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า

 

สำหรับในอาเซียนแล้ว การลงทุนในเทคโนโลยี Energy Storage มีแนวโน้มเติบโตดี จากการที่หลายประเทศตั้งเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนที่สูง โดยเฉพาะในฟิลิปปินส์ที่มีเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสูงถึง 40% ภายในปี 2020 นอกจากนี้ ประเทศอื่นๆ เช่น อินโดนีเซีย และเมียนมา ก็มีเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสูงราว 20% อย่างไรก็ตาม ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน อย่างแสงอาทิตย์ หรือลม จะมีเสถียรภาพต่ำกว่าไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานดั้งเดิม อย่าง ก๊าซธรรมชาติ หรือถ่านหิน เนื่องจากพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนจะแปรผันไปตามสภาพอากาศ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าความเข้มของแสงหรือแรงลมลดลงจากค่าปกติ ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ในช่วงเวลานั้นจะหายไปจากระบบเป็นจำนวนมาก และอาจทำให้เกิดไฟดับเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งเทคโนโลยี Energy Storage จะสามารถเข้ามาช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวได้ โดยนำเอาพลังงานที่เก็บสะสมไว้ในช่วงที่ผลิตไฟฟ้าเกินจำนวนที่ต้องการ ออกมาใช้ได้ทันที และส่งผลให้ระบบไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนสูงมีความเสถียรและยืดหยุ่นมากขึ้น

 

นอกจากนี้ ประเทศในอาเซียนที่มีอัตราประชากรที่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าในระดับต่ำ (Low electrification rate) หรือต้องเผชิญกับเหตุการณ์ไฟดับอยู่บ่อยครั้ง มีแนวโน้มที่จะลงทุนในเทคโนโลยี Energy Storage โดยตลาดที่น่าจับตามองคือประเทศเมียนมาและกัมพูชา เนื่องจากประชาชนในประเทศราว 70% ไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้ อีกทั้ง ระบบไฟฟ้าในประเทศยังมีประสิทธิภาพต่ำ ทำให้เกิดเหตุการณ์ไฟดับและไฟตกอยู่บ่อยครั้ง ประชาชนหรือสถานประกอบการที่มีความต้องการใช้งานระบบไฟฟ้าที่เสถียร อย่างโรงพยาบาล โรงแรม ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน และร้านค้า จึงต้องติดตั้งเครื่องปั่นไฟขนาดเล็กที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซล เพื่อให้สามารถมีไฟฟ้าใช้งานได้ตลอดเวลา รวมถึงในยามฉุกเฉิน แต่ทั้งนี้การใช้เชื้อเพลิงดีเซลนั้นมีราคาสูง การที่เทคโนโลยี Energy Storage โดยเฉพาะแบตเตอรี่ได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จะทำให้ระบบไฟฟ้าขนาดเล็กที่ใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่น เช่น แสงอาทิตย์ เป็นที่นิยมมากขึ้นเพราะสามารถนำไฟที่กักเก็บไว้มาใช้ในช่วงที่ไม่มีแสงแดดได้และมีต้นทุนที่ต่ำกว่าดีเซล

 

สำหรับในไทยเอง อีไอซีมองว่าโอกาสการลงทุนในเทคโนโลยี Energy Storage มีแนวโน้มเติบโตสูงเช่นกัน โดยจะได้รับการสนับสนุนจากนโยบายการเพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเป็นราว 20% ภายในปี 2036 ซึ่งจะมีการพัฒนาควบคู่ไปกับแผน Smart Grid หรือการพัฒนาให้ระบบไฟฟ้ามีการทำงานอย่างชาญฉลาด ที่จะต้องมี Energy Storage เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญ อย่างไรตาม ควรมีการจับตามองว่าราคาเทคโนโลยีกลุ่มนี้จะสามารถลดลงตามที่บริษัทวิจัยตลาดทั้งหลายคาดการณ์ไว้หรือไม่ ทั้งนี้ผู้ประกอบการไทยที่สนใจในการจำหน่ายเทคโนโลยี Energy Storage ควรรีบทำการค้นคว้าวิจัย หรือ หาพันธมิตรต่างชาติที่มีการพัฒนาและขายเทคโนโลยี Energy Storage เพื่อมาทำตลาดในกลุ่มประเทศอาเซียน

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ