SHARE
FLASH
29 มิถุนายน 2015

กรีซออกมาตรการควบคุมเงินทุนและปิดทำการธนาคารพาณิชย์หลังการเจรจากับเจ้าหนี้ล้มเหลว

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ที่ผ่านมารัฐบาลกรีซประกาศใช้มาตรการควบคุมเงินทุน (capital control) และปิดทำการธนาคารทั่วประเทศจนถึงวันที่ 6 กรกฎาคม นี้ เนื่องจากเหตุการณ์ดังต่อไปนี้ 24 มิถุนายน: การเจรจาระหว่างกรีซและยูโรโซนในการขอรับเงินช่วยเหลือล้มเหลว 26 มิถุนายน: รัฐบาลกรีซประกาศให้มีการลงประชามติวันที่ 5 กรกฎาคมเพื่อให้ประชาชนตัดสินว่าจะยอมรับมาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจที่เจ้าหนี้เสนอหรือไม่ และขอต่ออายุวงเงินช่วยเหลือแต่ถูกยูโรโซนปฏิเสธ 28 มิถุนายน: ธนาคารกลางยุโรป (ECB) หยุดขยายวงเงินกู้ฉุกเฉิน (Emergency Liquidity Assistance: ELA) ซึ่งเป็นแหล่งสภาพคล่องเดียวของธนาคารของกรีซ

ผู้เขียน: ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ และ ธนกร ลิ้มวิทย์ธราดล

 

ThinkstockPhotos-475582954-s.jpg

 

Event.png

 Event.gif

  • เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ที่ผ่านมารัฐบาลกรีซประกาศใช้มาตรการควบคุมเงินทุน (capital control) และปิดทำการธนาคารทั่วประเทศจนถึงวันที่ 6 กรกฎาคม นี้ เนื่องจากเหตุการณ์ดังต่อไปนี้
    24 มิถุนายน: การเจรจาระหว่างกรีซและยูโรโซนในการขอรับเงินช่วยเหลือล้มเหลว
    26 มิถุนายน: รัฐบาลกรีซประกาศให้มีการลงประชามติวันที่ 5 กรกฎาคมเพื่อให้ประชาชนตัดสินว่าจะยอมรับมาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจที่เจ้าหนี้เสนอหรือไม่ และขอต่ออายุวงเงินช่วยเหลือแต่ถูกยูโรโซนปฏิเสธ
    28 มิถุนายน: ธนาคารกลางยุโรป (ECB) หยุดขยายวงเงินกู้ฉุกเฉิน (Emergency Liquidity Assistance: ELA) ซึ่งเป็นแหล่งสภาพคล่องเดียวของธนาคารของกรีซ
Analysis.png

 Analysis.gif

  • กรีซออกมาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายและปิดทำการธนาคารเพื่อป้องกันประชาชนแห่ถอนเงินฝาก การที่ ECB กล่าวว่าจะไม่เพิ่มเพดาน ELA แก่ธนาคารของกรีซและความกังวลที่กรีซจะออกจากยูโรโซนหลังจากที่ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับเจ้าหนี้ได้ส่งผลให้เกิดการแห่ถอนเงินฝากจากระบบธนาคาร ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาธนาคารขาดสภาพคล่องจนล้มละลาย รัฐบาลกรีซจึงประกาศปิดทำการธนาคารและไม่ให้ประชาชนถอนเงินเกินวันละ 60 ยูโร ซึ่งมาตรการนี้จะบังคับใช้ไปจนถึงวันลงประชามติ

  • เหตุการณ์นี้สร้างความกังวลในตลาดการเงิน ทำให้เงินทุนไหลออกจากประเทศที่มีความเสี่ยงสูงไปยังประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ หลังจากตลาดพันธบัตรในยุโรปเปิดทำการในวันที่ 29 มิถุนายน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประเทศสเปน โปรตุเกส และอิตาลี ซึ่งเคยเป็นกลุ่มที่ประสบปัญหาหนี้สาธารณะในช่วงปี 2011 ปรับเพิ่มขึ้นราว 20 basis points (bps) ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของเยอรมนีและฝรั่งเศสปรับลดลงราว 13 และ 8 bps ตามลำดับ บ่งบอกว่านักลงทุนเคลื่อนย้ายเงินจากประเทศที่มีความเสี่ยงไปสู่ประเทศที่มีความมั่นคงมากกว่า (Risk-off sentiment) ความกังวลดังกล่าวส่งผลให้ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียปรับตัวลดลง แต่ตลาดพันธบัตรในภูมิภาคเอเชียยังไม่ได้รับผลกระทบจากเงินทุนไหลออกมากนัก

  • การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนกรีซเบื้องต้นชี้ว่าเสียงข้างมากคือยอมรับข้อเสนอแผนปฏิรูปของเจ้าหนี้ โดยการสำรวจเบื้องต้นโอกาสที่ประชาชนกรีซจะลงคะแนนเสียงยอมรับแผนปฏิรูปในวันที่ 5 มิถุนายน มีสูงกว่าการไม่ยอมรับแผน ทั้งนี้ สถานการณ์ในช่วง 1 สัปดาห์ที่มีการควบคุมการถอนเงินฝากและการปิดทำการของธนาคารอาจทำให้เสียงของประชาชนเบนมาทางด้านการยอมรับข้อเสนอของยูโรโซนมากขึ้นถึงแม้จะมีการต่อต้านก่อนหน้านี้ โดยหากกรีซยอมรับแผนการปฏิรูปได้แล้ว กรีซน่าจะกลับเข้าสู่การเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอเงินช่วยเหลือก้อนใหม่และนำมาชำระหนี้ที่ครบกำหนดในเดือนกรกฎาคม ขณะที่ ECB ก็มีแนวโน้มที่จะปล่อยเงินกู้ ELA เพิ่มขึ้นซึ่งจะช่วยผ่อนคลายปัญหาสภาพคล่องให้แก่ธนาคารของกรีซ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วกรีซไม่น่าจะมีการผิดนัดชำระหนี้พันธบัตรรัฐบาล และไม่ต้องออกจากเป็นสมาชิกของยูโรโซน

  • อย่างไรก็ตาม หากประชาชนกรีซไม่ยอมรับข้อเสนอแผนปฏิรูปเศรษฐกิจ กรีซอาจต้องออกจากยูโรโซน เนื่องจากกรีซจะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมใด ๆ จากยูโรโซนอีก รวมถึงเงินกู้ ELA ซึ่งเป็นแหล่งสภาพคล่องเงินยูโรเดียวของกรีซจะถูกตัด ดังนั้นการจะชำระหนี้คืนจะไม่สามารถทำด้วยเงินยูโรได้อีก และรัฐบาลกรีซจะไม่สามารถจ่ายเงินเดือนและบำนาญแก่ข้าราชการ ซึ่งหนทางสุดท้ายคือกรีซจะต้องออกจากยูโรโซนมาพิมพ์เงินสกุลดราคมา (Drachma) เพื่อให้รัฐบาลและภาคธนาคารสามารถดำเนินต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม เงินดราคมามีแนวโน้มอ่อนค่ารุนแรงเมื่อเทียบกับยูโร และอาจส่งผลให้เกิดอัตราเงินเฟ้อรุนแรง (Hyperinflation) ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจกรีซเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างรุนแรง

  • จับตาดูวันกำหนดชำระหนี้ของกรีซที่กำลังจะมาถึง ในวันที่ 30 มิถุนายน กรีซคงจะผิดนัดชำระหนี้ให้ IMF จำนวน 1.6 พันล้านยูโร แต่ผลกระทบอาจไม่มากนักเพราะไม่ได้เป็นการผิดนัดชำระหนี้กับเจ้าหนี้ภาคเอกชนและรัฐบาลประเทศอื่น อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ต่างประเทศให้ข้อมูลว่าพันธบัตรรัฐบาลที่กรีซต้องชำระคืนและออกพันธบัตรใหม่หมุนเวียน (Roll-over) จะครบกำหนดในวันที่ 10 กรกฎาคม จำนวน 2 พันล้านยูโร ซึ่งภาคธนาคารกรีซเป็นผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลกรีซโดยส่วนใหญ่ หากธนาคารของกรีซไม่ได้รับเงินกู้ ELA จาก ECB อาจทำให้ธนาคารของกรีซขาดสภาพคล่องและรัฐบาลกรีซจะไม่สามารถ Roll-over พันธบัตรรัฐบาลได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้พันธบัตรรัฐบาล (Sovereign default) ซึ่งจะยิ่งเป็นความเสี่ยงให้ภาคธนาคารของกรีซล้มละลาย
Implication.png

Implication.gif

  • ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมีค่อนข้างจำกัดหากกรีซออกจากยูโรโซน เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับกรีซมากนักทั้งทางด้านการค้าและตลาดการเงิน การส่งออกของไทยไปยังกรีซคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 0.1% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาจากกรีซคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.07% ส่วนผลกระทบทางอ้อมผ่านสหภาพยุโรป (สัดส่วน 9.3% ของมูลค่าการส่งออกไทย) ก็น่าจะมีไม่มากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจกรีซมีขนาดเพียงประมาณ 2% ของเศรษฐกิจยุโรปและมูลค่าการค้าระหว่างกรีซและยูโรโซนมีไม่มากนัก (รูปที่ 1) นอกจากนี้ เจ้าหนี้หลักกว่า 80% ของกรีซในปัจจุบันคือ กลุ่มทรอยกา (รูปที่ 2) ซึ่งหากไม่ได้รับการชำระหนี้จะไม่ส่งผลร้ายแรงต่อเศรษฐกิจมากนัก ที่สำคัญที่สุด ยังมีมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง (QE) ของ ECB จำนวนทั้งสิ้นราว 1.1 ล้านล้านยูโร ที่สามารถช่วยลดผลลุกลามจากการผิดนัดชำระหนี้ไปยังรัฐบาลประเทศอื่น ๆ ได้

  • ความกังวลในตลาดการเงินอาจส่งผลให้เกิดเงินทุนไหลออกจากประเทศกำลังพัฒนา หากสถานการณ์มีความไม่ชัดเจน หรือมีแนวโน้มไปทางที่กรีซจะออกจากยูโรโซน อาจส่งผลให้เงินทุนไหลออกจากประเทศกำลังพัฒนาไปยังประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น สหรัฐฯ และ ญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งมีแนวโน้มจะทำให้เงินบาทอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ และเยนได้

 

รูปที่ 1: มูลค่าการค้าระหว่างกรีซและยูโรโซนมีไม่มากนัก


20150629_Flash_1.jpg

 

รูปที่ 2: เจ้าหนี้หลักกว่า 80% ของกรีซในปัจจุบันคือ กลุ่มทรอยกา

 

20150629_Flash_2.jpg

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ